รายจ่ายเพื่อคนพิการที่หักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้เพิ่มขึ้น
บทความวันที่ 28 ธ.ค. 2565 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 725 ครั้ง
บทความวันที่ 28 ธ.ค. 2565 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 725 ครั้ง
รายจ่ายเพื่อคนพิการที่หักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้เพิ่มขึ้น
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่ายเพื่อคนพิการที่ผู้จ่ายเงินได้หรือค่าใช้จ่าย
หรือรายจ่ายได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้ประกอบด้วย
1. รายจ่ายเพื่อคนพิการ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553 และ
2. รายจ่ายเพื่อคนพิการ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554
จึงขอนำรายละเอียดมากล่าวเพื่อการทำความเข้าใจ
และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งผู้พิการ และนายจ้างผู้จ่ายเงินได้หรือจ่ายรายจ่ายเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์อุปกรณ์
สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น
อันจะทำให้คนพิการสามารถปฏิบัติงานได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้ ดังนี้
1.
รายจ่ายเพื่อคนพิการ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553
สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานคนพิการ
และเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก
หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น
อันจะทำให้คนพิการสามารถปฏิบัติงานได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้
โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ
ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงาน และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่เจ้าของอาคาร
สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น
ให้แก่คนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
(วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553)
เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว ตามมาตรา 3 และมาตรา 4
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่
499) พ.ศ. 2553 ดังนี้
1.1 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2
แห่งประมวลรัษฎากร)
ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงานสำหรับเงินได้
เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว
(มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553)
1.2 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2
แห่งประมวลรัษฎากร) ให้แก่เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง
หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ซึ่งได้จัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก
หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น
ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์
สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการดังกล่าว (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553)
2. รายจ่ายเพื่อคนพิการ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554
สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
และส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานคนพิการเพิ่มขึ้น
โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีเงินได้ที่จัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพิ่มขึ้นสำหรับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงาน
จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554
ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (วันที่ 11
พฤษภาคม พ.ศ. 2554) เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว ตามมาตรา 3 และมาตรา 4
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่
519) พ.ศ. 2554 ดังนี้
2.1 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2
แห่งประมวลรัษฎากร)
สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับบุคคลธรรมดา
ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา
47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว
ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนดังกล่าว
(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์
แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น
สวนสาธารณะ
หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ
หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว
ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์
และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3)
แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554)
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 214) เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้
สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ
ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ดังนี้
"ข้อ 1 ในประกาศนี้
"หน่วยงานของรัฐ"
หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม
ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น
ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
"โครงการของรัฐ"
หมายความว่า โครงการของหน่วยงานของรัฐ
ที่จัดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ
ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ข้อ 2
เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 3 และข้อ
4
ข้อ 3
เงินได้ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 3
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่
519) พ.ศ. 2554
(1) สำหรับบุคคลธรรมดาให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา
47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของเงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์
แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว
ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนดังกล่าว
(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่เป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์
แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น
สวนสาธารณะ
หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ
หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว
ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์
และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3)
แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายจ่ายที่เป็นทรัพย์สิน จะต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องโดยตรง
และได้มาในระหว่างเวลาการดำเนินงานของโครงการของรัฐในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ข้อ 4 บุคคลธรรมดา
บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่
519) พ.ศ. 2554
จะต้องแสดงหลักฐานเป็นหนังสือที่พิสูจน์ได้ว่าได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐให้แก่หน่วยงานของรัฐซึ่งจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐนั้น
"กรณีที่หน่วยงานของรัฐรับบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ตามประกาศกรมสรรพากร
เรื่อง การบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ลงวันที่
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ให้ใช้ข้อมูลการบริจาคที่ปรากฏในระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation)
เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง
โดยบุคคลธรรมดา
บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานการบริจาคต่อเจ้าพนักงานประเมิน"
(ความตามวรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 341) ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16
ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)
ข้อ 5
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป"
2.2 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2
แห่งประมวลรัษฎากร)
ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
เข้าทำงานเกินกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่มีเงินได้
สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว
เพิ่มขึ้นจากสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่
499) พ.ศ. 2553 (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554)
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 215) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
การยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการเข้าทำงานเกินกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างในสถานประกอบการ
ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ดังนี้
"ข้อ 1
เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
เข้าทำงานเกินกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น
โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่มีเงินได้
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว
เพิ่มขึ้นจากสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่
499) พ.ศ. 2553
ข้อ 2
นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ที่ประสงค์จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้
จะต้องมีหนังสือรับรองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่พิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการตามข้อ
1 โดยหนังสือรับรองดังกล่าว
ต้องระบุรายชื่อและจำนวนลูกจ้างทั้งหมดรายชื่อและจำนวนลูกจ้างที่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
รวมทั้งระยะเวลาการจ้างงานของลูกจ้างนั้นๆ
ทั้งนี้
นายจ้างจะต้องมีหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวคนพิการของลูกจ้างและหลักฐานสำเนาสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายว่าด้วยการจ้างแรงงานของลูกจ้างทั้งหมด
ประกอบการออกหนังสือรับรองดังกล่าว
ข้อ 3
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป"
3.
บทสรุป
แม้ว่าตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะได้กำหนดนโยบายการให้สิทธิประโยชน์แก่นายจ้าง
และผู้ประกอบการที่จ่ายเงินได้หรือจ่ายรายจ่ายเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์อุปกรณ์
สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น
อันจะทำให้คนพิการสามารถปฏิบัติงานได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้ หรือจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ แต่การยกเว้นภาษีเงินได้ต้องตราขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
เท่านั้น อันเป็นหลักการและแนวคิดที่จะรวบรวมการยกเว้นภาษีอากรหรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรไว้ในประมวลรัษฎากร
เพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรของรัฐ จึงต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเพื่อการให้สิทธิประโยชน์แก่นายจ้าง
และผู้ประกอบการผู้จ่ายค่าจ้างและรายจ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ