ว่าด้วยอำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
บทความวันที่ 17 เม.ย. 2565 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 5996 ครั้ง
บทความวันที่ 17 เม.ย. 2565 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 5996 ครั้ง
ว่าด้วยอำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา
19 แห่งประมวลรัษฎากร
ขอนำประเด็นอำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา
19 แห่งประมวลรัษฎากร มาเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาทำความเข้าในเกี่ยวกับวิธีการเสียภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากร
โดยเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บ (Authoritative
Assessment) กรณีผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ไว้แล้ว
ตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ.
2534 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เป็นต้นไป บัญญัติว่า
“มาตรา 19
เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์
ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน
และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น
นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย
ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี
นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น
จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร
หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร
อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้
แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องตามหัวข้อต่อไปนี้
1. มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องใด
2. อำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร ปรับใช้กับภาษีอากรประเภทใด เพราะเหตุใด
3. มูลเหตุในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร
4. กำหนดเวลาในการออกหมายเรียก
5. อำนาจตามหมายเรียก
6.
กำหนดเวลาที่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
7. การปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร
8. การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร
9. การออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีเงินได้ครึ่งปีหรือครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
10. บทสรุป
1. มาตรา
19 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องใด
1.1 มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นบทบัญญัติว่าด้วยวิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร โดยกำหนดให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมิน
ในอันที่จะทำการออกหมายเรียกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร
หรือผู้นำส่งภาษีอากรที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 17
แห่งประมวลรัษฎากร กับทั้งพยาน ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้
1.2 มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติตามส่วน
1 การยื่นรายการและการเสียภาษี หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ในลักษณะ 2
ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดวิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน
หรือวิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรไว้ดังนี้
(1) การยื่นรายการประเมินตนเอง ตามมาตรา
17 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร
(2) เจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 16
ประกอบมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมิน
(3) อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา
18 ถึงมาตรา 27 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร ยกเว้นมาตรา 27 ตรี
แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่
(ก) อำนาจการประเมินเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ
ตามมาตรา 18 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) อำนาจประเมินความถูกต้องของแบบแสดงรายการ
เพื่อเรียกเก็บภาษีอากรตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร
(ค) อำนาจแจ้งการประเมิน ตามมาตรา
18 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(ง) อำนาจออกหมายเรียกฯ
กรณีผู้ต้องเสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้ว ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
(จ) อำนาจการประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา
19 แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 20 และมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร
(ฉ) อำนาจการประเมินเบี้ยปรับตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา
19 แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร
(ช) อำนาจออกหมายเรียกฯ
กรณีผู้ต้องเสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร
(ซ) อำนาจประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา
23 แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งประมวลรัษฎากร
(ฌ) อำนาจประเมินเบี้ยปรับตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา
23 แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร
(ญ) อำนาจประเมินเงินเพิ่มภาษี ตามมาตรา
27 แห่งประมวลรัษฎากร
(ฎ) อำนาจลดหรืองดเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม
ตามมาตรา 27 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ดู คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2541ฯ
ประกอบ)
(ฏ) อำนาจส่งหนังสือแจ้งความแก่ผู้มีสิทธิขอคืน
หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาการคืนภาษี ตามมาตรา 27 จัดวา
แห่งประมวลรัษฎากร
(4) การขอคืนภาษีอากรประเมิน ตามมาตรา
27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(5)
หน้าที่อื่นของผู้ต้องเสียภาษีหรือผู้นำส่งภาษีอากรประเมิน ตามมาตรา 17
วรรคสอง และวรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
(6) การอุทธรณ์การประเมิน ต่ามส่วน 2 หมวด
2 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 28 ถึงมาตรา 34
แห่งประมวลรัษฎากร
(7) บทกำหนดโทษ (ทางอาญา) ตามส่วน 3
หมวด 2 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 35 ถึงมาตรา 37 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร
2.
อำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ปรับใช้กับภาษีอากรประเภทใด
เพราะเหตุใด
2.1
อำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
ปรับใช้ได้กับเฉพาะภาษีเงินได้ตามหมวด 3 แห่งประมวลรัษฎากร คือ
เฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น
2.2 ทั้งนี้
เนื่องจากกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
และภาษีธุรกิจเฉพาะได้มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดไว้เป็นพิเศษต่างหากแล้ว
จึงไม่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการออกหมายเรียกไปใช้บังคับอีก
3.
มูลเหตุในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
3.1
เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า
ผู้มีเงินได้แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่บริบูรณ์
3.2 ผู้ต้องเสียภาษีขอคืนภาษีเงินได้
3.3 เจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า
ผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร
4. กำหนดเวลาในการออกหมายเรียก
4.1
โดยทั่วไปให้เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้มีเงินได้ได้แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบริบูรณ์
และได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาให้ออกหมายเรียก ต้องกระทำภายใน 2 ปี
นับแต่วันที่ผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้
ไม่ว่าจะได้ยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว ภายในกำหนดเวลาหรือภายหลังพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา
17 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร ก็ตาม
4.2
กรณีขอคืนภาษีเงินได้ ซึ่งตามมาตรา 27 ตรี หรือมาตรา 63
แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3
ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ
รวมทั้งกำหนดเวลที่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาการยื่นรายการตามมาตรา 3 อัฏฐ
แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ
รวมทั้งกำหนดเวลาที่ได้รับให้ขยายเวลาการยื่นรายการ แล้วแต่กรณี
4.3
กรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า
ผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร ให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตามมาตรา
19 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ
รวมทั้งกำหนดเวลาที่ได้รับให้ขยายเวลาการยื่นรายการ แล้วแต่กรณี
5. อำนาจตามหมายเรียก
5.1 อำนาจในการเรียกให้ผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน
และออกหมายเรียกพยานไปพบเพื่อให้ถ้อยคำชี้แจ้งเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน
5.2
อำนาจสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้
6.
กำหนดเวลาที่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
เจ้าพนักงานประมินต้องให้เวลาในการปฏิบัติตามหมายเรียกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย
โดยต้องพิจารณาในการดำเนินการดังกล่าวภายในกำหนดเวลาตามข้อ 4 ด้วย
การนับกำหนดเวลาสิ้นสุดการออกหมายเรียก
คือ วันที่กำหนดนัดหมายให้ผู้เสียภาษีไปปฏิบัติตามหมายเรียก
เพราะกำหนดเวลาการปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
ถือเป็นสาระสำคัญของหมายเรียกด้วยเช่นกัน
จึงต้องนับระยะเวลาในการปฏิบัติตามหมายเรียกให้เป็นส่วนหนี่งของกำหนดเวลาตามมาตรา
19 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย จะนับแต่เพียงกำหนดเวลาตามวันที่ได้ออกหมายเรียก
หรือวันที่ระบุในหมายเรียกฯ หรือวันที่ได้รับหมายเรียกฯ ไม่ได้
ตัวอย่าง
วันที่ให้ผู้เสียภาษีมาพบตามหมายเรียกฯ
สมมติว่า ครบกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นแบบ แสดงรายการภาษีเงินได้ ได้แก่
วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมีวันที่ตามหมายเรียกดังนี้
(1)
เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565
(2)
ผู้เสียภาษีได้รับหมายเรียก วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565
(3)
ในหมายเรียกระบุให้ผู้เสียภาษีไปพบในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565
เช่นนี้
เนื่องจากวันที่กำหนดนัดให้ผู้ต้องเสียภาษีไปพบ คือ วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565
ได้ล่วงพ้นกำหนดเวลา 5 ปี ที่เป็นฐานอำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว หมายเรียกฯ ดังกล่าว จึงเป็นโมฆะ สิ้นผล ตามกฎหมาย
ไม่อาจใช้บังคับกับผู้เสียภาษีได้ เจ้าพนักงานประเมินต้องถูกสอบสวน และถูกลงโทษทั้งทางแพ่ง
และทางวินัย
7.
การปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
7.1
เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้จัดการตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
และทำการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีอากรตามแบบแสดงรายการที่ยื่น
และทราบข้อความแล้ว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ประเมิน
หรือที่ยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัย พยานหลักฐานที่ปรากฏและแจ้งจำนวนเงินที่ต้อง
ชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร
ในกรณีนี้ผู้ต้องเสียภาษีมีสิทฝธิอุทธรณ์การประเมิน
7.2
ผู้ต้องเสียภาษีอากรมีสิทธิยื่นคำร้องขอลดหรือของดเบี้ยปรับตามมาตรา 22
แห่งประมวลรัษฎากรตามมาตรา 27 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่
ท.ป. 81/2542ฯ
8.
การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
8.1
ถ้าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมาย หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา
19 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้อง
และแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร
ในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ตามมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร
8.2
กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ไม่นำบัญชี
เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5
ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี
แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ถ้ายอดรายรับก่อนหักรายจ่าย หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ปรากฏ
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน
โดยอาศัยเทียบเคียงกับยอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป
ถ้ายอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนไม่ปรากฏให้ประเมินได้ตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 71
(1) แห่งประมวลรัษฎากร
8.3
ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา
19 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามมาตรา 36 แห่งประมวลรัษฎากร
9. การออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีเงินได้ครึ่งปีหรือครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
9.1
การเสียภาษีเงินได้ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล นั้น
แนวคิดทั่วไป คือ มุ่งจัดเก็บเป็นรายปีภาษี หรือรายรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา
40 ประกอบมาตรา 41 และมาตรา 65 ประกอบมาตรา 66
แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี
9.2 ตามมาตรา
56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่
13) พ.ศ. 2527 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปีภาษี 2528 เป็นต้นไป บัญญัติว่า
“มาตรา 56 ทวิ
เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 56
ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 57 ทวิ และมาตรา
57 ตรี ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดแสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา 40
(5) (6) (7) หรือ (8) ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่
ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี
เงินได้ตามมาตรา 40 (5) ตามวรรคหนึ่ง
ไม่รวมถึงเงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าซ่อมแซม
ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์
การยื่นรายการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณภาษีตามมาตรา
48 โดยหักลดหย่อนตามมาตรา 47 ให้กึ่งหนึ่ง และชำระภาษีถ้ามี
พร้อมกับการยื่นรายการนั้นเจ้าพนักงานตามมาตรา 56
ภาษีที่ชำระตามวรรคสาม ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา
57 จัตวา”
และตามมาตรา 67 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า
“มาตรา 67 ทวิ
เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 68
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีต่ออำเภอ
ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่
ภายในสองเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
ดังนี้
(1)
ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจากที่กล่าวใน (2)
ให้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำ
หรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
แล้วให้คำนวณและชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
(2) ในกรณีบริษัทจดทะเบียน
ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน
บริษัทหลักทรัพย์
หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ให้คำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี
(ความตามวรรคหนึ่งของมาตรา 67 ทวิ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 31) พ.ศ.
2534 ใช้บังคับ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เป็่นต้นไป)
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 107))
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 128))
ภาษีที่ชำระตามวรรคหนึ่ง
ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีแรก
หรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายน้อยกว่าสิบสองเดือน
(มาตรา 67 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม
(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1
มกราคม พ.ศ. 2526 เป็นต้นไป)
9.3 การออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อตรวจสอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2562 โดยผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562 และแบบ ภ.ง.ด.90 ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 นั้น หากเจ้าพนักงานประเมิน ได้ออกหมายเรียกหลังจากพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562 (ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564) แต่ไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 (ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565) โดยมิได้ขอขยายกำหนดเวลาต่ออธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย หมายเรียกฯ ดังกล่าวย่อมมีผลเฉพาะกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. 2562 เท่านั้น เจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี พ.ศ. 2562 โดยอาศัยหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้แล้ว เนื่องจากพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียภาษีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94 ไปแล้ว ถูกต้องแล้วครับ
แต่หากเจ้าพนักงานประเมินมีความประสงค์ที่จะออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี
พ.ศ. 2562 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมกับการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลประจำปีภาษี
พ.ศ. 2562 ที่จะออกหมายเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบ
ภ.ง.ด.90 ไม่เกินวันที่ 31 มีนคม พ.ศ. 2565
ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย
ต้องมีเหตุตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ
ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยโดยชัดแจ้งว่า
ผู้ยื่นรายการ “มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร”
สำหรับการยื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครื่งปี สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2562 ด้วย
10. บทสรุป
10.1
การออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ต้องกระทำภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) กรณีทั่วไป
เจ้าพนักงานประเมินต้องออกหมายเรียกฯ ภายใน 2 ปี
นับแต่วันที่ผู้มีเงินได้ได้ยื่นรายการ โดยนับรวมวันที่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียกฯ
เข้าไว้ภายใน 2 ปีนั้นด้วย
(2) กรณีขอคืนภาษีเงินได้
เจ้าพนักงานประเมินต้องออกหมายเรียกฯ ภายในกำหนดเวลาการขอคืนภาษีเงินได้ คือ ภายใน
3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ
หรือกำหนดเวลการยื่นรายการที่ได้รับการขยายเวลาให้ ตามมาตรา 3 อัฏฐ
แห่งประมวลรัษฎากร โดยนับรวมวันที่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียกฯ เข้าไว้ภายใน 3 ปี
นั้นด้วย
(3)
กรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า
ผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร
ให้ออกหมายเรียกภายในห้าปีนับแต่วันที่ผู้มีเงินได้ได้ยื่นรายการภายในกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือกำหนดเวลาตามที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขยายกำหนดเวาตามมาตรา
3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร โดยนับรวมวันที่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียกฯ เข้าไว้ภายใน 5
ปี นั้นด้วย
10.2
การออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
เพื่อตรวจสอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
เนื่องจากหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
บัญญัติให้ออกหมายเรียกภายในกำหนดเวลาทีกำหนดภายหลังการยื่นราการของผู้ต้องเสียภาษี
จึงต้องดำเนินการภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี
10.3
เจ้าพนักงานประเมินพึงสังวรณ์ในทุกประเด็นตามบทบัญญัติตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากอำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นกฎหมายที่เป็นโทษต่อผู้ต้องเสียภาษีอากร จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด อาทิ
เหตุแห่งการออกหมายเรียกฯ ต้องมีความชัดเจน เช่น
การที่เจ้าพนักงานประเมินจะออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร เกินกว่า 2
ปีได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยโดยชัดแจ้งว่า
ผู้ยื่นรายการ “มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร”
ที่สามารถตอบคำถามผู้บังคับบัญชาและผู้ต้องเสียภาษีอากรได้ ดังนั้น
ก่อนที่จะอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกในกรณีนี้
ผู้บังคับบัญชาต้องมั่นใจว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
มิฉะนั้น อาจกลายเป็นคมดาบที่กลับมาเฉือดเฉือนเจ้าพนักงานประเมิน
และผู้บังคับบัญชาได้
10.4
อำนาจในการการตรวจสอบภาษีเงินได้กรณีผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้วนั้น
หาใช่กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินต้องใช้อำนาจในการออกหมายเรียก ตามมาตรา 19
แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น โดยเฉพาะกรณีที่พ้นกำหนดเวลาการออกหมายเรียกทั่วไป
ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ไว้แล้ว
หากแต่ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร
ในอันที่จะทำการตรวจสอบความถูกต้องบริบูรณ์ของการยื่นรายการเงินได้
ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกระทำได้ภายใน 10 ปี
นับแต่วันที่ผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาการยื่นรายการตามมาตรา
17 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ
ดังกล่าว แล้วแต่วันใดจะเป็นวันก่อน โดยไม่ต้องหาเหตุอันควรสงสัยว่าผู้มีเงินได้หลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือไม่
ซึ่งเป็นกรณีที่ควรใช้กับกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงภาษีอากรอย่างแท้จริงเท่านั้น
10.5 ในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีที่กระทำเกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการ
นั้น เจ้าพนักงานประเมินต้องมีความมั่นใจ
และต้องรับผิดชอบพิสูจน์สมมติฐานในการออกหมายเรียกว่า
ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร
ทั้งต่อผู้มีเงินได้และรายงานผู้บังคับบัญชาด้วย หากไม่พิสูจน์
หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้มีเงินได้มีการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
อาจถือได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินและผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจประเมินโดยมิชอบ
อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียหาย ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้
เพราะหมายเรียกเป็นความศักดิ์สิทธิ์ตามกฎหมายที่จะนำมาใช้เล่นต่อรองกับผู้ต้องเสียภาษีอากรอย่างที่ชอบกระทำกันไม่ได้
มิฉะนั้น ดาบอาญาสิทธิ์เล่มนี้ อาจย้อนกลับคืนสนองผู้ใช้อำนาจโดยมิชอบได้
และจงอย่าคิดว่า ผู้ต้องเสียภาษีอากรจะปล่อยเลยไป
ด้วยเกรงกลัวอำนาจเจ้าพนักงานประเมิน โดยเด็ดขาด