การให้บริการใช้พื้นที่
บทความวันที่ 7 ก.พ. 2565 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 22837 ครั้ง
บทความวันที่ 7 ก.พ. 2565 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 22837 ครั้ง
การให้บริการใช้พื้นที่
การให้เช่าพื้นที่กับการให้ใช้พื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งในส่วนของข้อเท็จจริง
ประกอบข้อกฎหมาย และประเด็นทางภาษีอากร
1. การให้เช่าพื้นที่ อันเป็นอสังหาริมทรัพย์
1.1 สัญญาเช่าทรัพย์ คือ
สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งที่เรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า
"ผู้เช่า" ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง
ชั่วระยะเวลาอันจำกัดและผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น (มาตรา 537
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
สัญญาเช่าทรัพย์มีลักษณะดังนี้คือ
(1) เป็นสัญญาต่างตอบแทน
ซึ่งคู่สัญญาเช่าทรัพย์ต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน กล่าวคือ
ผู้ให้เช่าเป็นลูกหนี้โดยมีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่าในขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับค่าเช่าทรัพย์สินนั้น
(2) ผู้เช่ามีสิทธิได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า
สิทธิของผู้เช่าในทรัพย์สินที่เช่านั้น
แม้ช่วงเวลานานเพียงใดก็เป็นสิทธิที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่านั้น
ผู้เช่าไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่า เช่นเช่าบ้าน
ผู้เช่ามีสิทธิเพียงครอบครอง ใช้ประโยชน์อยู่อาศัยในบ้านเท่านั้น
แม้จะอยู่มานานเท่าใดผู้เช่าก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
“ทรัพย์สิน”
ที่เป็นวัตถุแห่งสัญญาเช่านี้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์หรือสิทธิใดๆ
ก็ได้ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า หรือลิขสิทธิ์ เป็นต้น
สิทธิที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินตามสัญญาเช่านั้น
กฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องเป็นระยะเวลาอันมีจำกัด เช่น กำหนดเป็นวัน เดือน
ปี
หรือแม้จะกำหนดระยะเวลาเช่าไว้ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าก็ได้เพราะเท่ากับเป็นการกำหนดระยะเวลาอันมีจำกัดแล้วนั่นเอง
ทั้งนี้ ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้เช่า มิฉะนั้น
สัญญาเช่าก็จักไม่เกิดขึ้น และเมื่อได้ส่งมอบการครอบครองแล้ว
ผู้ให้เช่าจะเข้าไปในพื้นที่เช่าไม่ได้เลย เว้นแต่จะมีเหตุที่กฎหมายยอมให้กระทำได้
(3) ผู้เช่าตกลงให้ค่าเช่าเพื่อตอบแทนการใช้ทรัพย์สิน
เรียกว่า “ค่าเช่า”
ซึ่งกำหนดเป็ฯเงินตราที่คู่สัญญาให้แก่กันเพื่อตอบแทนการใช้ทรัพย์สินที่เช่า
หรือจะตกลงกันกำหนดค่าเช่าเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้
(4)
การเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดระยะเวลาเช่าไว้ไม่เกิน 3 ปี กฎหมายได้กำหนดว่าสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ (มาตรา 538 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
การเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดระยะเวลาเช่าไว้เกินกว่า
3 ปี หรือตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า
การเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะกำหนดระยะเวลาเช่าไว้เพียง 1 ปี 2 ปี
หรือเกินกว่านั้นเป็น 10 ปี 20 ปี หลักเกณฑ์ในการทำสัญญาก็เหมือนกัน
กล่าวคือการเช่าอสังหาริมทรัพย์สามารถตกลงกันได้นานที่สุด 30 ปี (มาตรา 540
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ต้องมี “หลักฐานเป็นหนังสือ”
จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาเช่าทรัพย์ได้
อย่างไรก็ตามถ้าเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดระยะเวลาเช่าเกินกว่า
3 ปี หรือตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า
กฎหมายกำหนดให้ตองทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ซึ่งหากไม่ทำตามก็จะฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียงแค่ 3 ปี เท่านั้น (มาตรา 538
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
เครดิต http://life.cpru.ac.th/.../%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0...
1.2 การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ในทางภาษีอากร
(1) ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
(2)
กรณีผู้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น
ที่จ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6 (1) และ (2)
ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าเช่า
(3)
สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องปิดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาทต่อมูลค่าเช่าตามสัญญา
ทุกจำนวน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท
2. การให้ใช้พื้นที่อันเป็นอสังหาริทรพย์
2.1 เป็นสัญญาการให้บริการ เนื่องจากไม่มีการส่งมอบการครอบครองทรัพย์ที่ให้ใช้พื้นที่กันนั้น
ซึ่งผู้ให้บริการใช้พื้นที่ยังคงมีสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นตลอดเวลา
2.2 การให้ใช้พื้นที่ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์
ในทางภาษีอากร
(1) เป็นกิจการให้บริการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีผู้ใช้บริการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น
ที่จ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12/1
ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ในอัตราร้อยละ 3 ของค่าบริการ
(3) สัญญาให้ใช้อสังหาริมทรัพย์ หรือให้บริการใช้พื้นที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์
ตัวอย่าง
กรณีบริษัท A เช่าที่ดินเปล่า แล้วนำที่ดินที่เช่ามาทำตลาดนัดชาวบ้าน ไม่มีสิ่งก่อสร้าง
โดยบริษัทฯ จัดให้มีเต้นท์และไฟฟ้าใหักับผู้เช่าพื้นที่ขายของ ตลาดนัดมีวันจันทร์
- ศุกร์ ช่วงเวลา 15.00-21.00 น. บริษัทฯ คิดอัตราค่าบริการเหมารวมวันละ 200.- บาท
ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร นั้น
รายได้จากการให้บริการพื้นที่เพื่อขายของในลักษณะตลาดนัดดังกล่าว
เป็นรายได้อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1)
ประกอบกับมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีบริษัทฯ ประกอบธุรกิจประกันชีวิต
มีที่จอดรถว่าง โดยให้พนักงานบริษัทฯ เช่าที่จอดรถเดือนละ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยทำสัญญาเช่า ถามว่า บริษัทฯ ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
นั้น
ให้พิจารณาเงื่อนไขการให้บริการใช้พื้นที่จอดรถดังกล่าวว่า
เป็นการให้เช่าที่จอดรถยนต์ หรือให้บริการรับฝากรถยนต์
1. หากบริษัทฯ ส่งมอบการครอบครองพื้นที่จอดรถยนต์ให้แก่พนักงาน
เป็นสัดส่วนแน่นอนว่า อยู่บริเวณใด ผู้อื่นไม่สามารถเข้าใช้ได้ พนักงานต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยของทรัพย์สินรถยนต์ของตนเอง
เช่นนี้ เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
2. แม้จะทำสัญญาให้เช่าพื้นที่
และมีข้อกำหนดตาม (1) แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทฯ มียามดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินรถยนต์ทั้งส่วนรถยนต์ของบริษัทฯ
และของพนักงานโดยรวม เช่นนี้ ถือเป็นสัญญาเป็นสัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 657
จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพตามมาตรา 77/1
(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
ผู้รับฝากทรัพย์จึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 และมาตรา
82 แห่งประมวลรัษฎากร
ตัวอย่างแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร
เลขที่หนังสือ : กค 0811/7511
วันที่ : 14 ธันวาคม 2543
เรื่อง :
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่าและการให้บริการพื้นที่จอดรถ
ข้อกฎหมาย :
มาตรา 81(1)(ต), มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.90/2542ฯ
ข้อหารือ :
1. บริษัทฯ
ได้เช่าที่ดินโดยมีกำหนดอายุการเช่า 30 ปี และก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่เช่า
ให้ชื่อว่า อาคารเกษตรพลาซ่า ซึ่งจำแนกธุรกิจภายในอาคารเป็น 3 ส่วน คือ อาคารชั้น
4 – ชั้น 6 โดยแบ่งสัญญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
(1) สัญญาเช่าพื้นที่สำนักงานและสัญญาบริการ
ซึ่งสัญญาบริการ ได้แก่ ระบบปรับอากาศ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และพื้นที่จอดรถ
สำหรับในส่วนสัญญาบริการ บริษัทฯ ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ
(2)
อาคารศูนย์การค้าให้เช่าบนอาคารชั้นพื้นดิน – ชั้น 3 มีสัญญาเช่า 1 สัญญาเป็นสัญญาให้เช่าเหมา
30 ปี ชั้นใต้ดิน 1 บางส่วน – ชั้น 3 เพื่อทำธุรกิจศูนย์การค้า โดยผู้เช่าจะดำเนินการให้เช่าช่วงพื้นที่
และจัดหาบริการต่าง ๆ ให้แก่ผู้เช่าช่วงของตนเอง บริษัทฯ
ไม่ได้ให้บริการแก่ผู้เช่าอาคารศูนย์การค้าแต่อย่างใด
(3) อาคารจอดรถ บนอาคารชั้นใต้ดิน 1 บางส่วน –
อาคารชั้นใต้ดิน 3 สามารถจอดรถยนต์ได้รวม 411 คัน และรถจักรยานยนต์ได้รวม 50 คัน
เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป โดยผู้ใช้รถจะสามารถนำรถเข้ามาจอดได้ตั้งแต่เวลา
6.00 น. ถึงเวลา 02.00 น. ทุกวัน
บริษัทฯ
จะเรียกเก็บค่าบริการจอดรถจากรถทุกคันที่เข้ามาจอดในอาคารจอดรถตามอัตราที่บริษัทฯ กำหนด
ได้แก่ ชั่วโมงละ 30 บาท หรือจอดรถไม่เกิน 4 ชั่วโมง เสียค่าจอด 10 บาท
แต่สำหรับผู้เช่าอาคารสำนักงานบนอาคารชั้น 4 – ชั้น 6 ซึ่งได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่สำนักงานและสัญญาบริการ
บริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการจอดรถเป็นรายเดือนในอัตราคันละ 1,500 บาท
ต่อคันต่อเดือน โดยจะมอบสติ๊กเกอร์ให้แก่ผู้เช่าตามจำนวนรถที่กำหนดไว้ในสัญญาบริการ
และบริษัทฯ กำหนดสถานที่จอดรถไว้ให้เป็นการเฉพาะ
2.
บริษัทฯ มีความเห็นว่า
การให้บริการพื้นที่จอดรถไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
แต่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา
77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธิเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารสำนักงานและการให้บริการพื้นที่จอดรถ
ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร จึงหารือว่า ความเห็นของบริษัทฯ
ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย :
1. กรณีบริษัทฯ
ก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่า
ซึ่งมีทั้งการเช่าเพื่อประกอบธุรกิจศูนย์การค้าและเช่าเป็นอาคารสำนักงาน
โดยการเช่าเป็นอาคารสำนักงานนั้น บริษัทฯ ได้ทำสัญญาให้เช่าพื้นที่สำนักงาน และสัญญาให้บริการสาธารณูปโภคซึ่งรวมถึงพื้นที่จอดรถด้วย
ในส่วนของการให้บริการพื้นที่จอดรถ บริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการแตกต่างกัน กล่าวคือ
หากเป็นผู้เช่าอาคารสำนักงานซึ่งทำสัญญาเช่าพื้นที่สำนักงาน และสัญญาบริการ
บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าบริการจอดรถเป็นรายเดือนโดยจะมอบสติกเกอร์ให้แก่ผู้เช่าตามจำนวนรถที่กำหนดไว้ในสัญญาบริการและกำหนดสถานที่จอดรถไว้ให้เป็นการเฉพาะ
แต่หากเป็นลูกค้าทั่วไปจะเรียกเก็บค่าบริการจอดรถจากรถทุกคันที่เข้ามาจอดในอาคารจอดรถตามอัตราที่กำหนด
กรณีดังกล่าว การประกอบกิจการให้เช่าอาคารเพื่อประกอบธุรกิจศูนย์การค้าและเช่าเป็นอาคารสำนักงานเข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
และการให้บริการพื้นที่จอดรถเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10)
แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการพื้นที่จอดรถตามมาตรา 77/2
แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 90/2542 ฯ
ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2542
2. กรณีบริษัทฯ
ก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่าและให้บริการพื้นที่จอดรถด้วย
โดยอาคารจอดรถอยู่ในอาคารเดียวกันกับอาคารที่ให้เช่า บริษัทฯ
ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อทั้งหมดที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารที่จะนำไปหักออกจากภาษีขาย
ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง
กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6
แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
3. กรณีข้อเท็จจริงปรากฏว่า
บริษัทฯ ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการพื้นที่
จอดรถและได้เฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากากรก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่าและให้บริการพื้นที่จอดรถตั้งแต่เริ่มมีการให้บริการตามสัญญาเป็นต้นมา
ถือว่าบริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องตามประมวลรัษฎากรแล้ว
เลขตู้ :
63/29994
https://www.rd.go.th/24186.html
เลขที่หนังสือ : กค 0811/พ.09559
วันที่ : 14 กันยายน 2542
เรื่อง :
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีการให้บริการเกี่ยวกับการรับฝากข้าวสารในคลังสินค้าและให้บริการจัดหาคนงานขนข้าวสาร
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1 (10), มาตรา 82/4, มาตรา 81 (1)(ณ)
ข้อหารือ :
องค์การฯ ได้ทำสัญญาเช่าคลังสินค้าเพื่อเก็บข้าวสารโดยผู้ให้เช่าตกลงจัดเตรียมคลังสินค้าให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้พร้อมที่จะรับฝากข้าวสารของผู้เช่าได้ทันทีและผู้ให้เช่าตกลงเป็นผู้จัดหายามเพื่อรักษาข้าวสารที่เก็บไว้ในคลังสินค้ามิให้เสียหายหรือสูญหายโดยค่าใช้จ่ายเป็นของผู้ให้เช่า
หากเกิดความเสียหายหรือสูญหายใด ๆ ขึ้นแก่ข้าวสารของผู้เช่าโดยมีร่องรอยของการ
โจรกรรมผู้ให้เช่ายินยอมรับผิดชดใช้ราคาข้าวสาร
รวมทั้งค่าสินไหมทดแทนอื่น ๆ ทั้งสิ้น สัญญามีกำหนดเวลา 6 เดือน
และเมื่อครบกำหนดเวลาหากมีข้าวสารเหลืออยู่ในคลังสินค้า
ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าคลังสินค้าต่อไปจนกว่าจะขนย้ายข้าวสารออกจากคลังสินค้าเสร็จสิ้น
นอกจากนั้นองค์การฯ
ได้ตกลงให้ผู้ให้เช่าจัดหาคนงานเพื่อทำการขนข้าวสารให้แก่องค์การฯ ไม่ต่ำกว่าวันละ
600 ตันโดยต้องขนข้าวสารลงจากรถบรรทุกข้าวสารเข้าคลังสินค้าตามคำสั่งของผู้เช่าหรือผู้แทนของผู้เช่าได้ตลอดเวลา
โดยกำหนดอัตราค่าจ้างคนงานในการขนข้าวสารลงจากรถและตั้งเรียงกองในคลังสินค้าในอัตรากระสอบละ
3.80 บาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดจนภาษีอากรอื่น ๆ แล้ว
องค์การฯ จึงหารือว่า กรณีที่ องค์การฯ
ตกลงเช่าคลังสินค้าเพื่อฝากเก็บข้าวสารกับผู้ให้เช่าโดยคิดค่าเช่าและกำหนดให้ผู้ให้เช่ารับผิดหากข้าวสารที่ฝากเก็บสูญหายหรือเสียหาย
และกรณีที่ตกลงให้ผู้ให้เช่าจัดหากรรมกรขนข้าวสารให้องค์การฯ ตามข้อเท็จจริง
ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่นั้น
แนววินิจฉัย :
1. กรณีสัญญาเช่าคลังสินค้าที่มีข้อตกลงให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้เก็บรักษาข้าวสารที่เก็บไว้ในคลังสินค้า
หากเกิดความเสียหายหรือสูญหายแก่ข้าวสารผู้ให้เช่าต้องรับผิดชดใช้ราคาข้าวสาร
และมีข้อตกลงคืนข้าวสารเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเป็นสัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 657
จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพตามมาตรา 77/1
(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
ผู้รับฝากทรัพย์จึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 และมาตรา
82 แห่งประมวลรัษฎากร และมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากองค์การฯ
เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
2.
กรณีการให้บริการจัดหาและว่าจ้างแรงงานกรรมกรเพื่อขนข้าวสารเข้าเก็บในคลังสินค้าตามคำสั่งขององค์การฯ
เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรบริษัทฯ
จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ :
62/28304
https://www.rd.go.th/23721.html
เลขที่หนังสือ : กค 0702/6328
วันที่ : 7 สิงหาคม 2552
เรื่อง :
ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีการให้เช่าอาคารและการให้เช่าที่จอดรถ
ข้อกฎหมาย :
มาตรา 81 (1)(ต) มาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 และมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัทฯ ประกอบกิจการเกี่ยวกับธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
โดยบริษัทฯ เช่าอาคาร ที่จอดรถ เพื่อนำมาให้เช่าช่วงต่อทั้งอาคาร
มีสถานที่ให้เช่าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บริษัทฯ
ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1.
ค่าเช่าอาคารที่ให้เช่าช่วงเป็นธุรกิจประเภทการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ใช่หรือไม่
2.
กรณีเจ้าของสินทรัพย์ที่ให้เช่าได้แบ่งสัญญาเช่าเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเช่าอาคาร
และสัญญาเช่าเฟอร์นิเจอร์ บริษัทฯ จะต้องทำสัญญากับผู้เช่าช่วงเป็น 2
สัญญาด้วยหรือไม่ หากแบ่งแยกสัญญาดังกล่าว สัญญาเช่าอาคารเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์
ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ส่วนสัญญาเช่าเฟอร์นิเจอร์เป็นสัญญาเช่าสังหาริมทรัพย์ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ใช่หรือไม่
3.
กรณีที่จอดรถที่มีลักษณะเป็นที่ดินว่าง หรือมีลานจอดรถที่มุงหลังคาเป็นบางส่วน
และมีรั้ว โดยมีลักษณะให้เช่าทั้งหมดกับ ผู้เช่ารายเดียว ในแต่ละสถานที่
ไม่มีการให้บริการอื่นเพิ่มเติม บริษัทฯ เรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือน
และผู้เช่าเป็นผู้ถือกุญแจ การให้เช่า
ที่จอดรถดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
4.
กรณีผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของทรัพย์ได้มอบสิทธิเกี่ยวกับผลประโยชน์ในที่ดินหรืออาคารให้แก่บริษัทฯ
โดยบริษัทฯ ไม่ต้องเสีย ตอบแทน ต่อมาบริษัทฯ
ได้นำที่ดินหรืออาคารนั้นให้เช่าและเรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือน
ถือว่าเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์หรือไม่
แนววินิจฉัย
1. กรณีตาม 1.
หากการให้เช่าช่วงอาคาร เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
จึงได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
แต่ในกรณีการให้บริการอื่นๆ เช่น ให้เช่าเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวย ความสะดวกอื่นๆ
และให้บริการสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเรียกเก็บค่าบริการรวมหรือแยกออกจากค่าเช่าอาคาร
ถือเป็นการให้บริการ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1 (10) มาตรา
77/2 และมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตาม 2. หากบริษัทฯ
ทำสัญญาให้เช่าช่วงเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเช่าอาคารและสัญญาเช่าเฟอร์นิเจอร์
เฉพาะสัญญาเช่า เฟอร์นิเจอร์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10)
แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับ
ค่าบริการที่ได้รับจากการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีตาม 3. หากบริษัทฯ
ให้เช่าที่จอดรถที่เป็นที่ดินว่างหรือมีลานจอดรถที่มุงหลังคาเป็นบางส่วนและมีรั้ว
โดยมีลักษณะ ให้เช่าทั้งหมดแก่ผู้เช่ารายเดียวในแต่ละสถานที่
และได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินหรือลานจอดรถดังกล่าวให้แก่ผู้เช่ารายนั้นๆ
เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
4. กรณีตาม 4. หากบริษัทฯ
นำที่ดินหรืออาคารนั้นไปให้ผู้อื่นเช่า ถือว่าบริษัทฯ
เป็นผู้ให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ :
72/36779
https://www.rd.go.th/41766.html
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./879
วันที่ : 31 มกราคม 2561
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
1. บริษัทฯ
เช่าที่ดินเปล่าจากผู้ถือหุ้นสัญญาเช่ามีกำหนด ๓ ปี ได้ทำการพัฒนาที่ดิน
โดยดำเนินการถมดิน ปรับปรุงพื้นผิว
และสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำออกให้เช่าประกอบกิจการ เช่น ร้านอาหารภัตตาคาร
ค้าขายผักและผลไม้ เป็นต้น โดยใช้ชื่อโครงการ (โครงการฯ) บริษัทฯ
จึงเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าที่ดินและทรัพย์สินที่ปลูกสร้างตามสัญญาเช่าดังกล่าว
2. บริษัทฯ ได้ทำสัญญากับผู้เช่าเพื่อให้เช่าทรัพย์สินในโครงการฯ
เพื่อให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า
และผู้เช่าตกลงจ่ายค่าเช่าเป็นการตอบแทนการให้เช่าแก่บริษัทฯ
โดยทรัพย์สินที่บริษัทฯ ปลูกสร้างและนำออกให้เช่าแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
2.1 สิ่งปลูกสร้างแบบอาคารเป็นหลัง
แบ่งเป็นห้อง แต่ละห้องมีผนังและประตูปิด – เปิด
2.2
สิ่งปลูกสร้างในอาคารซึ่งสร้างติดอยู่กับที่ดินแบบเป็นล็อก จัดแบ่งเป็นโซน เช่น
โซนผักผลไม้ แต่ละล็อกมีหมายเลขกำกับและมีพื้นที่แบ่งล็อกชัดเจน มีโครงสร้างมั่นคง
ถาวร มีความสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีประตูปิด – เปิด เข้า – ออก
บุคคลภายนอกไม่สามารถเดินผ่านเข้า – ออก ด้านล่างสามารถเก็บของได้
3.
บริษัทฯ และผู้เช่าได้ตกลงทำสัญญาเช่าทรัพย์สิน
โดยกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย สรุปได้ ดังนี้
3.1 สัญญาเช่าทรัพย์สินมีกำหนดระยะเวลาและค่าตอบแทนการเช่า
3.2 ผู้เช่าสามารถเข้า – ออก ทรัพย์สินที่เช่า
ได้ในเวลาใดๆ
3.3 ผู้เช่าสามารถตกแต่งทรัพย์สินที่เช่า
ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองหรือตามที่จะตกลงกับผู้ให้เช่า
3.4
ผู้เช่ามีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสะอาดทรัพย์สินที่เช่าเอง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการนั้น
3.5 เช่าจะต้องดูแลและซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า
ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเอง
3.6 ผู้เช่าต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยของทรัพย์สินเอง
3.7 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้ให้เช่าฯ
มีหน้าที่ดูแลการจราจร และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในโครงการฯ เท่านั้น
ไม่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้เช่าแต่อย่างใด
3.8 ชอบในความสูญหายหรือเสียหายในทรัพย์สินของผู้เช่า
3.9 ผู้ให้เช่าฯ หรือตัวแทนของบริษัทฯ
จะเข้าไปในทรัพย์สินที่เช่าได้ ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้เช่า
3.10 ผู้เช่าจะต้องรับผิดชอบ ดูแลสินค้าหรือทรัพย์สินใดๆ
ของผู้เช่าเพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเกิดกรณีสูญหายหรือถูกโจรกรรม ลักทรัพย์ ยักยอก
หรือเหตุสุดวิสัย หรือเหตุใดๆ ก็ตาม ผู้เช่าไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆ
จากผู้ให้เช่าฯ
4. บริษัทฯ ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้เช่า
โดยให้ผู้เช่าได้รับหรือได้ใช้ประโยชน์จาก ทรัพย์สินที่เช่าแล้วในวันทำสัญญา
จึงขอหารือว่า รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าว เป็นรายได้จากการให้เช่า
อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย
กรณีบริษัทฯ
ได้ตกลงให้เช่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่า
ซึ่งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีลักษณะติดตรึงแน่นหนา มั่นคง กับที่ดินเป็นการถาวร
เพื่อให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า
โดยสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาและบริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนจากการเช่า หากบริษัทฯ
ได้ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เช่าให้กับผู้ให้เช่า
การให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ :
81/40562
http://webinter.rd.go.th/publish/26894.0.html