ภาษีอากรเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสลากของรัฐบาล
บทความวันที่ 4 ก.พ. 2565 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 5801 ครั้ง
บทความวันที่ 4 ก.พ. 2565 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 5801 ครั้ง
ภาษีอากรเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสลากของรัฐบาล
ในปัจจุบันสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ผู้ค้าสลากที่เป็นยี่ปั๊ว
หรือตัวแทนจำหน่ายสลากของรัฐบาลต้องมีสถานภาพเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งหมด
ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการการกำกับและตรวจสอบการขายสลากของรัฐบาล
จึงขอนำประเด็นภาษ๊อากรที่เกี่ยวข้องกับการขายสลากของรัฐบาลมากล่าว
เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา ทำความเข้าใจ และการนำไปปฏิบัติแก่ผู้มีความสนใจ ตามหัวข้อดังต่อไปนี้
1. ประเภทสลากของรัฐบาล
2. บทบัญญัติทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับสลากของรัฐบาล
3. การบันทึกรายการบัญชีที่เกี่ยวข้อง
4. บทสรุป
1. ประเภทสลากของรัฐบาล
1.1 สลากกินแบ่งของรัฐบาล
คือล็อตเตอรีชนิดหนึ่งในประเทศไทย
ผู้ที่ต้องการจะขายต้องขออนุญาตจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อน
ในปัจจุบันออกทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ยกเว้น
งวด
1 มกราคม เปลี่ยนไปออกรางวัลในวันที่ 30 ธันวาคม ปีก่อนหน้า
เนื่องจากเป็นวันขึ้นปีใหม่
งวด
16 มกราคม เปลี่ยนไปออกรางวัลในวันที่ 17 มกราคม เนื่องจากตรงกับวันครู
งวด
1 พฤษภาคม เปลี่ยนไปออกรางวัลในวันที่ 2 พฤษภาคม เนื่องจากตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ
1.2 สลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
หรือ “สลากการกุศลงวดพิเศษฯ”
ตั้งแต่งวด 1 กันยายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
รางวัลเลขท้าย 3 ตัว 4 รางวัล เปลี่ยนเป็นรางวัลเลขหน้า 3 ตัว 2 รางวัล
และรางวัลเลขท้าย 3 ตัว 2 รางวัล
ตั้งแต่งวด 1 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบสลากจาก 1 ใบ มี 2 ฉบับคู่ เป็นฉบับละ 1 ใบ
โดยยังจำหน่ายในราคาเดียวกับแบบ 1 ใบมี 2 ฉบับ
2. บทบัญญัติทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับสลากของรัฐบาล
ตามมาตรา 42 (11) แห่งประมวลรัษฎากร
ได้กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาล
ตามมาตรา 5 จตุทศ (2) และ (3)
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10)
พ.ศ. 2500 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 310) พ.ศ. 2540 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่
13 กันยายน พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับรายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ดังนี้
“มาตรา 5 จตุทศ
ให้ยกเว้นรัษฎากรดังต่อไปนี้แก่การออกสลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
(1) ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับเงินรางวัลสลากซึ่งยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของรางวัล
โดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(2) ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลาก
(3) ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับการขายสลาก
ทั้งนี้
ไม่ว่าเงินได้หรือการขายนั้นจะได้รับหรือได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”
ตามมาตรา 3 (2)
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับรายได้จากการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล
“มาตรา 3
ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายสินค้า ดังต่อไปนี้...
(2) การขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล สลากออมสินของรัฐบาล และสลากบำรุงกาชาดไทย”
ตามข้อ 2 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126
(พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาล
ดังนี้
“ข้อ 2 ให้กำหนดเงินได้ต่อไปนี้เป็นเงินได้ตาม
(17) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.
2496
(2) เงินได้จากการจำหน่าย หรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาล”
ตามลักษณะตราสารที่ 28 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ได้กำหนดให้ผู้รับรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาลต้องเสียอากรแสตมป์สำหรับใบรับรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาลในอัตรา
1 บาทต่อทุกจำนวนเงินรางวัล 200 บาท และเศษของ 200 บาท โดยกำนดให้เสียเป็นตัวเงินต่อเจ้าพนักงานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจจำแนกภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับสลากของรัฐบาลได้ดังนี้
2.1 สำหรับสลากกินแบ่งของรัฐบาล
(1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ
(ก) เงินได้จากการจำหน่าย หรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาล ตามข้อ
2 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)
(ข) รางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาล ตามมาตรา 42 (11) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
ไม่มีข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับทั้งเงินได้จากการจำหน่าย
หรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาล และรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาล
แต่อย่างใด
(3) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล
ตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534
(4) กรณีอากรแสตมป์ กำหนดให้ผู้รับรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาลต้องเสียอากรแสตมป์สำหรับใบรับรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาลในอัตรา
1 บาทต่อทุกจำนวนเงินรางวัล 200 บาท และเศษของ 200 บาท โดยกำนดให้เสียเป็นตัวเงินต่อเจ้าพนักงานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
2.2 สำหรับสลากการกุศลงวดพิเศษฯ
(1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ
(ก) เงินได้จากการจำหน่าย หรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากการกุศลงวดพิเศษฯ ตามมาตรา
5 จตุทศ (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
(ข) รางวัลสลากการกุศลงวดพิเศษฯเฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของรางวัล
โดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามมาตรา 5 จตุทศ (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10)
พ.ศ. 2500
(2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ
(ก) เงินได้จากการจำหน่าย หรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากการกุศลงวดพิเศษฯ ตามมาตรา
5 จตุทศ (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
(ข) รางวัลสลากการกุศลงวดพิเศษฯเฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของรางวัล
โดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามมาตรา 5 จตุทศ (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
(3) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล
ตามมาตรา 5 จตุทศ (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
(4) กรณีอากรแสตมป์ ไม่มีข้อกำหนดให้ผู้รับรางวัลสลากการกุศลงวดพิเศษฯ
ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์สำหรับใบรับรางวัลสลากการกุศลงวดพิเศษฯ แต่อย่างใด
2.3 เนื่องจากทั้งสลากกินแบ่งของรัฐบาล
และสลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
มีการกำหนดราคาสลากไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน ดังนั้น
ในทางปฏิบัติกรมสรรพากรจึงตีความว่า
การยกเว้นภาษีอากรที่เกี่ยข้องกับการจำหน่ายสลากทั้งสองประเภทดังกล่าว ให้หมายความเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินราคาที่กำหนดไว้เท่านั้น
เช่นเดียวกับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายแสตมป์ไปรษณีย์ แสตมป์อากร
หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ เฉพาะที่ยังไม่ได้ใช้ในราคาที่ไม่เกินมูลค่าที่ตราไว้ ตามมาตรา
3 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239)
พ.ศ. 2534
2.4 กรณีบริษัทฯ ขายสลากกินแบ่งออนไลน์ นั้น ท่านให้แยกประเภทสลากออกเป็น 2
ประเภท ซึ่งมีภาระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
(1) สลากกินแบ่งของรัฐบาล
(ก) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี
จากการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
จากการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 3 (2)
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534
(2) สลากการกุศลงวดพิเศษฯ
(1) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ
มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี
จากการขายสลากการกุศลงวดพิเศษฯ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
(2)
กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการขายสลากการกุศลงวดพิเศษฯได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 5 จตุทศ (2) และ (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
(3) การขายสลากทั้งสองประเภท ถือเป็นการ “ขายสินค้า”
ไม่ถือเป็นการให้บริการแต่อย่างใด การยกเว้นภาษีอากรทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล
และภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น ในทางปฏิบัติ ให้หมายถึงเฉพาะในกรณีที่บริษัทฯ
ขายสลากทั้งสองประเภทไม่เกินกว่ามูลค่าทีตราไว้บนสลาก ซึ่งเป็นราคาที่กฎหมายกำหนด
คือ ฉบับละ 80 บาท เท่านั้น ทำนองเดียวกับการยกเว้นการขายแสตมป์ไปรษณีย์
แสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล
หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้
เฉพาะที่ยังไม่ได้ใช้ในราคาที่ไม่เกินมูลค่าที่ตราไว้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3
(3) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534
3. การบันทึกรายการบัญชี
ประเด็นการบันทึกรายการบัญชีเกี่ยวกับรายได้จากการขายสลากทั้งสองประเภทนั้น
3.1 ให้บริษัทฯ
บันทึกรายการบัญชีตามที่บริษัทฯ ได้รับจริง และได้จ่ายไปจริง
โดยให้จำแนกรายได้ในส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ออกต่างหากจากรายได้ในส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
และภาษีมูลค่าเพิ่มตามบัญญัตดังกล่าวข้างต้น
(1)
สำหรับรายได้จากการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล
(ก)
บริษัทฯ
ต้องนำรายได้จากการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาลมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวน
(ข)
สำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น ให้นำรายได้เฉพาะที่บริษัทฯ ได้รับจากการขายสลากกินแบ่งเกินกว่ามูลค่าทีตราไว้บนสลากกินแบ่งของรัฐบาล
(2)
สำหรับรายได้จากการขายสลากการกุศลงวดพิเศษฯ นั้น บริษัทฯ
ต้องนำรายได้จากการขายสลากการกุศลงวดพิเศษฯ
มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
เฉพาะรายได้ในส่วนที่บริษัทฯ ได้รับจากการขายสลากการกุศลงวดพิเศษฯ
เกินกว่ามูลค่าทีตราไว้บนสลากการกุศลงวดพิเศษ
3.2 การบันทีกต้นทุนสลาก
(1)
สำหรับต้นทุนค่าสลากกินแบ่งของรัฐบาล ให้บริษัทฯ
บันทึกบัญชีตามหลักฐานที่จ่ายไปจริง
(2)
สำหรับต้นทุนค่าสลากการกุศลงวดพิเศษฯ เนื่องจากบริษัทฯ มีต้นทุนเกินกว่า 80 บาท
ต่อฉบับ
(ก)
ตุ้นทนของสลากในส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคล คือ ฉบับละ 80 บาท ซึ่งเท่ากับรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
(ข)
สำหรับต้นทุนส่วนทีเกินฉบับละ 80 บาท
ให้ถือเป็นต้นทุนของรายได้ในส่วนที่ได้รับเกินกว่าฉบับละ 80 บาท ทั้งสิ้น
3.3 การจัดสรรค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
ที่บริษัทฯ ใช้ร่วมกันทั้งรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
และไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นั้น
(1)
หากรายจ่ายใดสามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นรายจ่ายของรายได้ในส่วนใด ให้บริษัทฯ
บันทึกรายจ่ายดังกล่าวตามเกิดขึ้นจริง ของแต่ละประเภทรายได้
(2)
หากรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นรายจ่ายของรายได้ในส่วนใด
ให้บริษัทฯ
เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของรายได้ระหว่างรายได้ที่รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
และไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
4. บทสรุป
การขายสลากของรัฐบาล ในทางภาษีอากร ถือเป็นการ “ขายสินค้า” โดยตีความตามตัวอักษรที่ปรากฏ
(ยึดถือรูปแบบ มากกว่าเนื้อหา: Form over Substance) ทั้งที่โดยสภาพข้อเท็จจริงสลากเป็นการพนันขันต่อที่เป็นการให้บริการโดยรัฐบาล
เมื่อมีการกำหนดบังคับให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นพ่อค้าคนกลางเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
จึงมีผลกระทบต่อการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาลที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการขายสลากกินแบ่งของรัฐบาลดังกล่าว
นอกจากนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการขายสลากการกุศลงวดพิเศษฯ
และการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งกรณีสลากกินแบ่งของรัฐบาล และสลากการกุศลงวดพิเศษฯ
นั้น กรมสรรพากรมีแนวทางในการยกเว้นเฉพาะสำหรับการขายในราคาที่ไม่เกินมูลค่าที่ตราไว้บนสลากเท่านั้น
ผู้ประกอบการจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับรายได้ในส่วนที่เกินกว่ามูลค่าที่ตราไว้
คือ ฉบับละ 80 บาท
การบันทึกรายการบัญชีจึงต้องทำความเข้าใจพื้นฐานของกฎหมายให้ชัดแจ้ง จึงจะสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด