ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เงินปันผลระหว่างกาล และโบนัสที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน

บทความวันที่ 26 ก.ค. 2564  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 4049 ครั้ง

เงินปันผลระหว่างกาล และโบนัสที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน


         เกี่ยวกับเงินปันผลระหว่างกาล และโบนัสที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน 


1. เงินปันผลระหว่างกาล

1.1 ตามมาตรา 1200 ถึงมาตรา 1205 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติเกี่ยวกับเงินปันผลและเงินสำรอง ไว้ดังนี้ 

     "มาตรา 1200  การแจกเงินปันผลนั้น ต้องคิดตามส่วนจำนวนซึ่งผู้ถือหุ้นได้ส่งเงินแล้วในหุ้นหนึ่ง ๆ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ

      มาตรา 1201  ห้ามมิให้ประกาศอนุญาตเงินปันผล นอกจากโดยมติของที่ประชุมใหญ่

         กรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งเป็นคราว ในเมื่อปรากฏแก่กรรมการว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้น

         ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าหากบริษัทขาดทุนห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น

         การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี

มาตรา 1202  ทุกคราวที่แจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วนของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท

         ถ้าได้ออกหุ้นโดยคิดเอาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในใบหุ้นเท่าใด จำนวนที่คิดเกินนี้ท่านให้บวกทบเข้าในทุนสำรองจนกว่าทุนสำรองจะมีจำนวนเท่าถึงที่กำหนดไว้ในวรรคก่อน

มาตรา 1203  ถ้าจ่ายเงินปันผลไปโดยฝ่าฝืนความในมาตราทั้งสองซึ่งกล่าวมาไซร้ เจ้าหนี้ทั้งหลายของบริษัทชอบที่จะเรียกเอาเงินจำนวนซึ่งได้แจกไปคืนมายังบริษัทได้ แต่ว่าถ้าผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผลไปแล้วโดยสุจริต ท่านว่าจะกลับบังคับให้เขาจำคืนนั้นหาได้ไม่

มาตรา 1204  การบอกกล่าวว่าจะปันผลอย่างใด ๆ อันได้อนุญาตให้จ่ายนั้น ให้บริษัทมีจดหมายบอกกล่าวไปยังตัวผู้ถือหุ้นที่ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคน แต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวด้วย

มาตรา 1205  เงินปันผลนั้น แม้จะค้างจ่ายอยู่ ท่านว่าหาอาจจะคิดเอาดอกเบี้ยแก่บริษัทได้ไม่

ดังจะเห็นได้ว่า ตามมาตรา 1201 วรรคสอง และวรรคท้าย ได้กล่าวถึงการจ่ายเงินปันระหว่างกาลไว้ดังนี้ 

    "กรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งเป็นคราว ในเมื่อปรากฏแก่กรรมการว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้น

    การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี"

1.2 จากบทความ “เงินปันผลระหว่างกาล” คืออะไร Posted byDoctorWantTime21/06/2020

https://doctorwanttime.com/2020/06/21/interim-dividend/

     "เงินปันผลระหว่างกาล คือ เงินปันผลที่กรรมการบริษัทมีมติจ่ายในระหว่างรอบปีบัญชี เมื่อพิจารณาแล้วว่าบริษัทมีกำไรพอ สมควรที่จะจ่ายได้ ซึ่งจะเห็นว่าการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของบริษัทสามารถกระทำได้โดยมติของกรรมการบริษัท และมีมติให้จ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเมื่อจ่ายแล้วต้องนำไปแจ้งในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในครั้งถัดไปด้วย

      ส่วนเงินปันผลประจำปีนั้น จะสามารถจ่ายได้ต้องผ่านมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี

      ซึ่งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 115 ได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายปันผลดังนี้

      (1) การจ่ายปันผลประจำปี: มีกำหนดจ่ายภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติ

      (2) การจ่ายปันผลระหว่างกาล: มีกำหนดจ่ายภายใน 1 เดือนนับจากวันที่คณะกรรมการบริษัท มีมติให้จ่ายปันผล ซึ่งต้องรายงานต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งต่อไป" 

      สำหรับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล นั้น ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตั้งสำรองตามกฎหมายดังเช่นกรณีบริษัทจำกัดแต่อย่างใด 

1.3 ในทางภาษีอากร เงินปันผล ทั้งกรณีเงินปันผลประจำปี และเงินปันผลระหว่างกาล นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

1.4 กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและหรือเป็นผู้่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งได้รับเงินปันผลตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากรจากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทนั้น ต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 47 ทวิ วรรคแรกแห่งประมวลรัษฎากร

      ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 

      "ข้อ 11 กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และเป็นเงินปันผลที่เข้าลักษณะตามข้อ 8 และข้อ 9 ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 12 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจ่ายเงินปันผลซึ่งเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรเฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นตามข้อ 10 ผู้จ่ายเงินปันผลจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายว่า ไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

                         กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจ่ายเงินปันผลซึ่งเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นตามข้อ 10 และกำไรจากการประกอบกิจการตามข้อ 11 ผู้จ่ายเงินปันผลจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่า เงินที่ได้จ่ายนั้นจำนวนใดได้รับเครดิตภาษี และจำนวนใดไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

                  ข้อ 13 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา เมื่อจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้จ่ายเงินได้ทราบโดยชัดแจ้งว่าจ่ายจากเงินกำไรหลังจากเสียภาษีในอัตราใด ผู้จ่ายเงินได้จะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินปันผลหรือ เงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด

                          กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้จ่ายเงินได้ไม่สามารถทราบโดยชัดแจ้งว่าจ่ายจากเงินกำไรหลังจากเสียภาษีในอัตราใด ผู้จ่ายเงินได้ต้องเฉลี่ยเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามส่วนของกำไรหลังจากเสียภาษีในแต่ละอัตราภาษี และจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด..."

          1.5 เมื่อสิ้นปีภาษีผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% หรือจะนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคล โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 (3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้

 

2. โบนัสที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน

กล่าวสำหรับโบนัสที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นกรณีที่บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้่นส่วนนิติบุคคล นำเงินกำไรสะสมที่บริษัทมีอยู่เลี่ยงมาจ่ายเป็นเงินโบนัสแทนที่จะจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทจำกัดนั้น การจ่ายโบนัสให้แก่ผู้ถือหุ้น ไม่มีข้อกำหนดให้บริษัทต้องตั้งสำรองตามกฎหมาย ตามมาตรา 1202 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ในลักษณะทำนองเดียวกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ง)(จ) และ (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต่างล้วนเป็นการนำเงินกำไรสะสมมาจ่ายแทนการจ่ายเงินปันผล ซึ่งต่อมาเมื่อมีการบัญญัติมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนเชิงเศรษฐกิจ ก็มีผลทำให้เงินได้พึงประเมินประเภทดังกล่าวนี้ ได้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นน้อยกว่าการจ่ายในรูปของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร จึงไม่เป็นที่นิยมจ่ายให้เห็นกัน

 

3. ข้อเปรียบเทียบเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผล กับเงินโบนัสที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน

3.1 เงินปันผล

      (1) เป็นไปตามมาตรา 1021 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  

      (2) บริษัทจำกัด ต้องตั้งสำรองตามกฎหมาย ตามมาตรา 1202 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

      (3) เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

      (4) บริษัทต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% ของเงินได้ตามมาตรา 50 (2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร

      (5) กำหนดจ่ายจากกำไรสะสม และหรือกำไรสุทธิที่กระทำได้ในระหว่างระยะเวลาบัญชี

      (6) ผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทยหรือเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ เพื่อการขจัดความซ้ำซ้อนเชิงเศรษฐกิจ

      (7) เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร – รายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากกำไรที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

3.2 เงินโบนัสที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น  

      (1) ไปมีข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

      (2) ไม่มีข้อกำหนดให้บริษัทจำกัดต้องตั้งสำรองตามกฎหมาย ตามมาตรา 1202 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

      (3) เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร

      (4) บริษัทต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราก้าวหน้า) ของเงินได้ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือในอัตรา 15% ของเงินได้ กรณีผู้รับมิได้เป็นผู่อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 50 (2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

      (5) โดยส่วนใหญ่กำหนดจ่ายจากกำไรสะสม

      (6) ไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

      (7) เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร – รายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากกำไรที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เช่นเดียวกัน