



เรียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักบัญชี ตอนที่ 7 โครงสร้างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม: ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
บทความวันที่ 23 ม.ค. 2564 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 1301 ครั้ง
บทความวันที่ 23 ม.ค. 2564 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 1301 ครั้ง
เรียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักบัญชี
ตอนที่
7
โครงสร้างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม: ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
บทบัญญัติเกี่ยวกับ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นไปตามมาตรา 82 มาตรา 82/1 และมาตรา 82/2
แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการประกอบกิจกรรมที่อยู่ในต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
77/2 แห่งประมวล รวมทั้งผู้ที่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้
และใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย ตามมาตรา 86/13
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอาจจำแนกผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รัษฎากร ได้ดังนี้
1. ผู้ประกอบการ
2. ผู้นำเข้า
3.
ผู้ที่กฎหมายให้ถือว่ามีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
4.
ผู้ที่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย
1. ผู้ประกอบการ
"ผู้ประกอบการ" หมายความว่า
บุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ
ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ หรือค่าตอบแทนหรือไม่
และไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่ (มาตรา 77/1 (5)
แห่งประมวลรัษฎากร)
1.1 องค์ประกอบของผู้ประกอบการ
จากนิยามดังกล่าวอาจจำแนกองค์ประกอบของผู้ประกอบการได้ดังนี้
1.1.1 เป็นบุคคลใดๆ
ได้แก่
(1) บุคคลธรรมดา กองมรดก (มาตรา 77/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร)
(2) ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน หรือมูลนิธิที่มิใช่นิติบุคคล
หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไป
ที่มิใช่นิติบุคคล (มาตรา 77/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร)
(3) บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งได้แก่
(ก)
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(ข)
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
(ค) กิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ
องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
(ง) กิจการร่วมค้า
(จ) มูลนิธิหรือสมาคม
แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณกุศล
(มาตรา 77/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร) (4)
องค์การของรัฐบาล ตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก่
(ก)
องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล เช่น กระทรวงทบวง กรม
จังหวัด
(ข)
กิจการของรัฐที่จัดตั้งตามกฎหมายนั้น เช่น องค์การรัฐวิสาหกิจ เทศบาล สุขาภิบาล
องค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด องค์การบริหารราชการส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร
เมืองพัทยา
(ค)
หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
(5) สหกรณ์
(6)
องค์การอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล (มาตรา 77/1 (4)
แห่งประมวลรัษฎากร)
1.1.2 ประกอบกิจการขายสินค้า
หรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ได้แก่ การขายสินค้า
หรือการให้บริการโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรอยู่เป็นปรกติธุรกิจ ทั้งนี้
ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม (มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร)
ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเน้นกิจการที่กระทำเป็นสำคัญ
ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามที่ได้กระทำกิจการตามที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 77/2
แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
1.1.3 การประกอบกิจการขายสินค้า
หรือให้บริการดังกล่าว ต้องเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทยหรือในราชอาจักร
1.1.4 ผู้ประกอบการทุกรายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเสมอ
ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ทั้งนี้
เว้นแต่จะได้มีบทบัญญัติยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร
หรือประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81
แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 ผู้ประกอบการจดทะเบียน
ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
85 หรือมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
หรือที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร
แล้วเรียกว่า "ผู้ประกอบการจดทะเบียน" (มาตรา 77/1 (6)
แห่งประมวลรัษฎากร)
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการก่อให้เกิดสิทธิในทางภาษีมูลค่าเพิ่มแก่
ผู้ประกอบการจดทะเบียน ดังนี้
1.2.1 สิทธิในการออกใบกำกับภาษีเมื่อได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่า
เพิ่ม (มาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร) ผู้ประกอบการจดทะเบียนเท่านั้นที่จะมีสิทธิออกใบกำกับภาษี
แต่อย่างไรก็ตาม ลำพังการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะยังไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ประกอบ
การจดทะเบียนในอันที่จะออกใบกำกับภาษีได้โดยชอบตามกฎหมาย
หากแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ
ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องมีประกอบกิจการขายสินค้า หรือการให้บริการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่า
เพิ่มด้วย จึงจะเกิดสิทธิในการออกใบกำกับภาษีโดยสมบูรณ์
1.2.2 สิทธิที่จะเรียกเก็บภาษีขาย (มาตรา 82/4
แห่งประมวลรัษฎากร) เมื่อมีสิทธิตามกฎหมายที่จะออกใบกำกับภาษี
สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับรองสิทธิในการเรียกเก็บภาษีขายจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการของผู้ประกอบการจดทะเบียน
ทั้งนี้
เพื่อมิให้เกิดการโต้แย้งในระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการว่าหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีเป็นของราชการกรมสรรพากร
ซึ่งอาจจะก่อเกิดความวุ่นวายสับสนได้
1.2.3 สิทธิที่จะนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขาย
(มาตรา 82/3 ประกอบมาตรา 77/1 (18) แห่งประมวลรัษฎากร)
สิทธิประการนี้กำหนดให้มีแก่เฉพาะผู้ประกอบการ
ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ดังจะสังเกตได้จากบทนิยามศัพท์คำว่า “ภาษีซื้อ” ตามมาตรา 77/1 (18) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า
“ภาษีซื้อ” หมายความว่า
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตามมาตรา
82/4 และให้หมายความรวมถึง
(ก) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เสียเมื่อนำเข้า
(ข)
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เสียเนื่องจากได้รับโอนสินค้านำเข้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าพิกัดอัตราศุลกากรตามมาตรา
82/15
(ค) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งตามมาตรา 83/5
มาตรา 83/6 และมาตรา 83/7”
อนึ่ง ภาษีซื้อที่จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเป็นภาษีซื้อ
สำหรับระยะเวลาตั้งแต่ที่ผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไปเท่านั้น
จะนำภาษีซื้อที่เกิดข้อก่อนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายไม่ได้
1.2.4 สิทธิที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เพราะเหตุที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้สิทธินำภาษีซื้อมาเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว
ซึ่งผลการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษีอาจเกิดได้ทั้งในกรณีที่มียอดภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ
ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามยอดที่แตกต่างนั้น และกรณีที่ในเดือนภาษีใดมียอดภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย
ผู้ประกอบการจดทะเบียนย่อมมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่แตกต่างนั้นตามมาตรา
84 แห่งประมวลรัษฎากร
1.2.5 สิทธิที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ
0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกอบการจดทะเบียนจดทะเบียนเท่านั้น
สำหรับผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว
ซึ่งอาจได้รับยกเว้นหากมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี
หรืออาจต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7.0 ของราคาสินค้าหรือค่าบริการต่อไป
1.3
ในกรณีผู้ประกอบการเป็นผู้อยู่นอกราชอาณาจักร
แต่มีผู้รับผิดชอบในการการประกอบกิจการในราชอาณาจักร
ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการ รวมตลอดถึง ลูกจ้าง
หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรงหรือโดยปริยายที่อยู่ในราชอาณาจักร
เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ร่วมกับผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรนั้นด้วย (มาตรา 82/2
แห่งประมวลรัษฎากร)
1.4
การประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจำแนกตามขนาดของมูลค่าของฐานภาษี
หรือรายรับจากการประกอบกิจการ ดังนี้
1.4.1 สำหรับการประกอบกิจการระหว่างวันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.
2542
(1)
กรณีผู้ประกอบการมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 600,000 บาทต่อปี
(มูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม) ให้ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา
81/1 แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2534)
อย่างไรก็ตาม
ผู้ประกอบการดังกล่าวมีสิทธิยื่นแบบ ภ.พ.01
แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของราคาสินค้า หรือค่าบริการ
โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระจาก ยอดภาษีขาย หักด้วยภาษีซื้อ
ในแต่ละเดือนภาษี ตามมาตรา 81/3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
(2)
ในกรณีที่ผู้ประกอบการมิได้ใช้สิทธิขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม (1) ดังกล่าว
หากต่อมาในปีใดผู้ประกอบการมีมูลค่าของฐานภาษีต่อปีเกินกว่า 600,000 บาท
ผู้ประกอบการนั้น ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 ภายใน 30
วัน นับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่า 600,000 บาท
โดยจะใช้สิทธิเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (กึ่งเต็มรูปแบบ) ในอัตราร้อยละ 1.5
ของมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละเดือนภาษี ตามมาตรา
82/16 แห่งประมวลรัษฎากร
หรือจะเลือกขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7.0
ของราคาสินค้าหรือค่าบริการ โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระจากยอดภาษีขาย
หักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีก็ได้
ในระหว่างที่ผู้ประกอบการมีมูลค่าของฐานภาษีต่อปีเกินกว่า
600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,200,000 บาท
ผู้ประกอบการได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5
ของมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละเดือนภาษี ตามมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร
นั้น จะใช้สิทธิแจ้งขอเปลี่ยนไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0
ของราคาสินค้า หรือค่าบริการ โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระจาก
ยอดภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีก็ได้
และเมื่อได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
ผู้ประกอบการจะขอกลับไปใช้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5
ของมูลค่าของฐานภาษีไม่ได้อีกต่อไป (มาตรา 82/17 แห่งประมวลรัษฎากร)
(3)
ในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้สิทธิเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5
ของมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละเดือนภาษี ตาม (2) ดังกล่าว หากต่อมาในปีใดผู้ประกอบการมีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่า
1,200,000 บาท ผู้ประกอบการต้องยื่นแบบ ภ.พ.09
ขอเปลี่ยนแปลงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 10 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่า
1,200,000 บาท (มาตรา 82/18
แห่งประมวลรัษฎากร)
(4) กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน
ไม่ว่าจะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 หรือร้อยละ 7.0
ประสงค์จะถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
จะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นๆ
มีมูลค่าของฐานภาษีต่อปีไม่เกิน 600,000 บาท ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี
(มาตรา 85/10 แห่งประมวลรัษฎากร)
1.4.2 สำหรับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่
1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548
(1) ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมาลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม
ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 ยกเลิกพระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2534
และขยายมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิมมูลค่าของฐานภาษีต่อปีไม่เกิน
600,000 บาท เป็นมูลค่าของฐานภาษีต่อปีไม่เกิน 1,200,000 บาท
(2)
ผลของพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว
ทำให้การประกอบกิจการที่มีมูลค่าของฐานภาษีต่อปีไม่เกิน 1,200,000 บาท
ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีมูลค่าของฐานภาษีต่อปีเกินกว่า
600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,200,000 บาท ซึ่งเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ
1.5 ของมูลค่าของฐานภาษี ก็ได้สิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับการประกอบการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไป ด้วยเช่นเดียวกัน
(3)
ในปีภาษีใดที่ผู้ประกอบการมีมูลค่าของฐานภาษีต่อปีเกินกว่า 1,200,000 บาท
ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 ภายใน 30 วัน
นับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่า 1,200,000 บาท
โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระจากยอดภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ ในแต่ละเดือนภาษี
1.4.3 สำหรับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่
1 เมษายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
(1) ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548
ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม
ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเลิกพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 และขยายมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
จากเดิมมูลค่าของฐานภาษีต่อปีไม่เกิน 1,200,000 บาท เป็นต่อปีไม่เกิน 1,800,000
บาทต่อปี
(2) กรณีที่ในปีใดที่ผู้ประกอบการมีมูลค่าของฐานภาษีต่อปีเกินกว่า
1,800,000 บาท ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01
ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่า 1,800,000 บาท
โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระจากยอดภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ ในแต่ละเดือนภาษี
1.4.4 กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน
ซึ่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ประสงค์จะถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
จะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นๆ
มีมูลค่าของฐานภาษีต่อปีไม่เกิน 1,800,000 บาท ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี (มาตรา
85/10 แห่งประมวลรัษฎากร)
หมายเหตุ
1. คำว่า "ปี" หมายความว่า
(1) ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลให้นับตามปีปฏิทิน
(ประดิทิน) เว้นแต่ในกรณีที่เริ่มประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ให้เริ่มนับตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการถึงวันสิ้นปีปฏิทิน
(2) ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล
ให้นับตามรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่ในกรณีที่เริ่มประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ให้เริ่มนับตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการถึงวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี (มาตรา 5
แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 237))
2. คำว่า “ประเทศไทยหรือราชอาณาจักร”
หมายความว่า
(1) เขตภาคพื้นทวีปที่เป็นอาณาเขตของประเทศไทย
และทะเลอาณาเขต
(2) เขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทย
ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป ซึ่งได้แก่
เขตไหล่ทวีปตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยวัตจากจุดที่น้ำทะเลลงต่ำสุดออกไป 12
ไมล์ทะเล
(3) เขตไหล่ทวีปตามความตกลงระหว่างประเทศ
ได้แก่ เขตเศรษฐกิจเฉพาะ โดยวัดจากจุดที่น้ำทะเลลงต่ำสุดออกไป 200 ไมล์ทะเล (มาตรา
2 แห่งประมวลรัษฎากร)
2. ผู้นำเข้า
ตามมาตรา 77/1 (11)
แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “ผู้นำเข้า” และ “นำเข้า”
ดังต่อไปนี้
"(11) "ผู้นำเข้า"
หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า
(12) "นำเข้า"
หมายความว่า นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และให้หมายความรวมถึงการนำสินค้าที่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้า
หรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออกด้วย”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจจำแนกผู้นำเข้าได้ดังนี้
2.1 ในการนำสินค้าเฉพาะสินค้าที่มีรูปร่าง ที่ต้องเสียอากรขาเข้า
ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร เข้ามาจากต่างประเทศ หรือการนำสินค้าที่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้า
หรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออก
ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้นำเข้าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือบุคคลอื่นใดก็ตาม มีหน้าที่ต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้าตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดต่อเจ้าพนักงานศุลกากร
ณ ด่านศุลกากรตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ
7.0 ของฐานภาษีจากการนำเข้า ต่อเจ้าพนักงานศุลกากร
พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 83/8 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 สำหรับผู้นำเข้าที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้จ่ายตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร
มาถือเป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1 (18) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อหักออกจากภาษีขาย
ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระในเดือนที่ได้จ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไปดังกล่าว
2.3 ในกรณีผู้บริโภคเป็นผู้นำเข้า
ผู้บริโภคย่อมตกเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพื่ออันได้จ่ายไปนั้น
3.
ผู้ที่กฎหมายให้ถือว่ามีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้บุคคลดังต่อไปนี้
เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (มาตรา 82/1 แห่งประมวลรัษฎากร)
3.1
ในกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราช
อาณาจักรเป็นปกติธุระ โดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนดังกล่าว
เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ร่วมกับผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรนั้น) ด้วย
3.2
ในกรณีการขายสินค้า หรือการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา
80/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ถ้าภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในบริการนี้
ไปให้กับบุคคลที่มิใช่องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่
สถานกงสุล ให้ผู้รับโอนสินค้าหรือสิทธิในบริการดังกล่าว
เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
กรณีนี้เป็นกรณีที่กฎหมายเปลี่ยนตัวผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากองค์การสหประชาชาติ
ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต
สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล ซึ่งโดยทั่วไปได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
เป็นผู้รับโอนสินค้าดังกล่าว
3.3
ในกรณีสินค้านำเข้า
ที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
3.3.1 ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
3.3.2 ผู้รับโอนสินค้า
ในกรณีที่มีการโอนสินค้าดังกล่าว
กรณีรับโอนสินค้าตาม 3.3.2 ถือเป็นกรณีที่กฎหมายเปลี่ยนตัวผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับกรณีตามข้อ
3.2 ข้างต้น
3.4
ในกรณีที่มีการควบเข้ากัน
ให้ผู้ที่ควบเข้ากันและผู้ประกอบการใหม่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นนิติบุคคลใดประสงค์จะควบเข้ากัน
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้น แจ้งการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15
แห่งประมวลรัษฎากร ตามแบบ ภ.พ.09
และให้นิติบุคคลใหม่ซึ่งได้ควบเข้ากันยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ (มาตรา 85/14
แห่งประมวลรัษฎากร)
3.5 ในกรณีโอนกิจการ
ให้ผู้โอนและผู้รับโอนเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ผู้ประกอบกาจดทะเบียนใด
ประสงค์จะโอนกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการโอนกิจการ
และการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามี หรือแจ้งการโอนและแจ้งการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา
85/15 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ตามแบบ ภ.พ.09 ณ
สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
ในกรณีที่ผู้รับโอนกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
ให้ผู้รับโอนแจ้งการรับโอนกิจการ และการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามี
ณ สถานที่ที่ผู้รับโอนได้จะทะเบียนภาษีมูลค่า เพิ่มไว้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันรับโอนกิจการ
และในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน
ให้ผู้รับโอนยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันรับโอนกิจการ
และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ผู้รับโอนประกอบกิจการดังกล่าวต่อเนื่องไปพลางก่อนได้
ในกรณีที่โอนกิจการทั้งหมด
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกกิจการคืนใบทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม ณ
สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ พร้อมกับการแจ้งเลิกประกอบกิจการ (มาตรา
85/14 แห่งประมวลรัษฎากร)
4. ผู้ที่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย
ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดออกใบกำกับภาษี
ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย
บุคคลนั้นต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้
หรือใบลดหนี้นั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และให้ผู้ที่ออกใบกำกับภาษี
ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย นั้น ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี
ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจจำแนกผู้ออกใบกำกับภาษี
ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายได้ดังนี้
4.1 ผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะอออใบกำกับภาษี
ตามมาตรา
86/13 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้
ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้
กรณีที่บุคคลใดออกใบกำกับภาษี
ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย
บุคคลนั้นต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้
หรือใบลดหนี้นั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
4.1.1 ผู้ประกอบการที่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85
หรือมาตรา 85/1
หรือที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร
4.1.2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ห้ามออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/1 แห่งประมวลรัษฎากร)
(1)
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร
และได้ให้ตัวแทนของตนออกใบกำกับภาษีแทนตนตามมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร
(2)
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาด หรือขายโดยวิธีอื่น โดยบุคคลอื่นตามมาตรา
83/5 แห่งประมวลรัษฎากร
(3)
ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 83/6 (3)
แห่งประมวลรัษฎากร
4.1.3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีในกรณีดังต่อไปนี้
ถือว่า เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย
(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการซ้ำกับใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ออกใบลดหนี้ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา
82/10 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปภายหลังวันที่เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(4)
ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนใบกำกับภาษีอย่างย่อภายหลังวันที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
(5)
ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีกิจกรรมการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรองรับ
(ใบกำกับปลอม)
(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่ระบุรายการสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง (ใบกำกับปลอม)
(7) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่ระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นเท็จ (ใบกำกับปลอม)
(8) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีสำหรับขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่ระบุจำนวนมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงโดยทุจริต
(ใบกำกับปลอม)
4.1.4 ผู้ประกอบการดังต่อไปนี้
ออกใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย
(1)
ผู้ประกอบการที่มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
(2)
ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา
82/9 หรือมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี
4.1.5 กรณีที่บุคคลใดออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้
หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย บุคคลนั้นต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี
ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/13
แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ยังต้องรับผิดเบี้ยปรับ และระวางโทษทางอาญาดังต่อไปนี้
(1) ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี
ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้น ตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร



