ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541

บทความวันที่ 28 ส.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 12572 ครั้ง

ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541


        หนังสือซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษี เพราะมีเหตุจำเป็นให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้นำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะเหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า เหตุสุดวิสัย หรือได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี และได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษีนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานสรรพากรว่าไดรับใบกำกับภาษีในเดือนใด 

        การที่กรมสรรพากรยอมให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้นำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษี ไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี ก็เนื่องจากต้องการลดการยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในช่วงแรกของการใช้บังคับภาษีมูลค่ามีผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก อันเป็นกรณีที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง และก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4) ด้วยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) และได้มีหนังสือซ้อมความเข้าใจฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541 เพื่อข้ามพ้นการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมินเกี่ยวกับเหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า เหตุสุดวิสัย หรือได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี โดยให้สิทธิผู้ประกอบการจดทะเบียน ในอันที่จะนำภาษีซื้อไปใช้ในเดือนภาษีอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานสรรพากรว่าไดรับใบกำกับภาษีในเดือนใด 

        ในปัจจุบัน หนังสือซ้อมความเข้าใจดังกล่าว ไม่มีในสารบบของกรมสรรพากร จึงขอนำมาเผยแพร่ เพื่อใช้อ้างอิงในการนำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษี ไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษีต่อไป โดย "ไม่ต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานสรรพากรว่าไดรับใบกำกับภาษีในเดือนใด" ดังรายละเอียดต่อไปนี้


ที่ กค 0811/พ.05254                                                                                                             กรมสรรพากร
                                                                                                                                             อาคารธนาคารทหารไทย จำกัด
                                                                                                                                             34 ถนนพญาไท เขตราชเทวี
                                                                                                                                             กท 10400
                                                                                   1 พฤษภาคม 2541
เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541
เรียน ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษี สรรพากรพื้นที่ (ทุกพื้นที่)

 
          ตามที่กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษี เพราะมีเหตุจำเป็นให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541 นั้น
          เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน และแนะนำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง กรมสรรพากรจึงขอซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 
          1. ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้นำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะมีเหตุจำเป็น ได้แก่ เหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า เหตุสุดวิสัย หรือได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี ตัวอย่างเช่น ใบกำกับภาษีลงวันที่เดือนพฤษภาคา 2541 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีมิถุนายน 2541 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2541 เดือนภาษีหนึ่งเดือนภาษีใด ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับใบกำกับภาษีนั้นก็ได้ 
          2. การนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีอื่นตาม 1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุข้อความว่า “ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษี...” ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ 
          3. ในกรณีที่ใบกำกับภาษีที่ได้รับมิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีภายในกำหนดระยะเวลาหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษีตาม 1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงมีสิทธิยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีที่ออกใบกำกับภาษีได้ ตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร 
          4. ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้นำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะเหตุจำเป็นตาม 1. และได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษีนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานสรรพากรว่าไดรับใบกำกับภาษีในเดือนใด 
          5. การลงรายการในรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม 
              5.1 กรณีผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ 
                    ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และมีหน้าที่ลงรายการในรายงานภาษีขายภายในสามวันทำการ นับแต่วันที่จำหน่ายออกไปซึ่งสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ผู้ขายสินค้าออกใบกำกับภาษีในวันที่ 28 มีนาคม 2541 แต่ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในวันที่ 1 เมษายน 2541 ผู้ขายมีหน้าที่ลงรายการในรายงานภาษีขายภายในวันที่ 31 มีนาคม 2541 แต่วันที่ 29 มีนาคม 2541 เป็นวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของผู้ขาย วันครบสามวันทำการ คือ วันที่ 1 เมษายน 2541 ส่วนการลงรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้ลงตามที่ส่งมอบสินค้าจริง ภายในวันที่ 4 เมษายน 2541
              5.2 กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ 
                    ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการมีหน้าที่ลงรายการในรายงานภาษีซื้อภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการนั้น ถ้าผู้ขายออกใบกำกับภาษีในวันที่ 28 มีนาคม 2541 แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อสินค้าได้รับใบกำกับภาษีในวันที่ 2 เมษายน 2541 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ลงรายการในรายงานภาษีซื้อภายในวันที่ 5 เมษายน 2541 ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวอาจนำใบกำกับภาษีลงวันที่ 28 มีนาคม 2541 ไปลงรายการในรายงานภาษีซื้อของเดือนเมษายน 2541 หรืออาจจัดทำรายงานภาษีซื้อสำหรับใบกำกับภาษีที่ได้รับในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุในใบกำกับภาษีแยกต่างหากขึ้นอีกฉบับหนึ่งก็ได้ ส่วนการลงรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้ลงตามที่ได้รับสินค้าจริงภายในวันที่ 4 เมษายน 2541
          6. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2541 ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีลงวันที่เดือนพฤศจิกายน 2540 ถึงเดือนเมษายน 2541 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีพฤษภาคม 2541 ได้ 
          7. ในการตรวจสอบภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมิน ไม่ว่าการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม การตรวจปฏิบัติการ หรือตรวจสอบทั่วไป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2541 ถึงเดือนตุลาคม 2541 ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนนำใบกำกับภาษีของเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนที่ระบุในใบกำกับภาษีไปหักในการคำนวณภาษีในช่วงระยะเวลาไม่เกินหกเดือน นับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษีนั้น แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้ระบุข้อความว่า “ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษี ...” ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว ก็อนุโลมให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแก้ไขให้ถูกต้องได้ และเมื่อแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ก็ให้ถือเป็นภาษีซื้อของเดือนภาษีที่นำไปหักในการคำนวณภาษีนั้นได้ 
          8. ให้เจ้าพนักงานสรรพากรชี้แจงประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76)ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนทราบโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป
          จึงเรียนมาเพื่อทราบ และถือปฏิบัติต่อไป


                                                                                             ขอแสดงความนับถือ


                                                                                         ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
                                                                                              (สุชาติ เชาว์วิศิษฐ)
                                                                                              อธิบดีกรมสรรพากร 



          ดังจะเห็นได้ว่า แม่ตามข้อ 1. ของหนังสือซ้อมความเข้าใจฯ ดังกล่าว จะได้ล้อข้อความตามป

ระกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4) ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541 ตามข้อความต่อไปนี้

          "1. ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้นำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะมีเหตุจำเป็น ได้แก่ เหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า เหตุสุดวิสัย หรือได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี ตัวอย่างเช่น ใบกำกับภาษีลงวันที่เดือนพฤษภาคา 2541 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีมิถุนายน 2541 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2541 เดือนภาษีหนึ่งเดือนภาษีใด ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับใบกำกับภาษีนั้นก็ได้"

          แต่ความตามข้อ 4. ก็ได้หักล้างประเด็นเหตุจำเป็นตามประเพณีทางการค้า เหตุสุดวิสัย หรือได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี ด้วยข้อความว่า

          "4. ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้นำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะเหตุจำเป็นตาม 1. และได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษีนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานสรรพากรว่าไดรับใบกำกับภาษีในเดือนใด" 

          ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า หากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษีนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนย่อมมีสิทธิกระทำได้ โดย"ไม่ต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานสรรพากรว่าไดรับใบกำกับภาษีในเดือนใด" แต่อย่างใด