เรียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักบัญชี ตอนที่ 1 ความหมายของภาษีมูลค่าเพิ่ม
บทความวันที่ 19 ม.ค. 2564 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 2566 ครั้ง
บทความวันที่ 19 ม.ค. 2564 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 2566 ครั้ง
เรียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักบัญชี ตอนที่ 1
ความหมายของภาษีมูลค่าเพิ่ม
ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลไทยนำมาใช้บังคับจัดเก็บแทนที่ระบบภาษีการค้า
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นมานั้น
เป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบการบริโภค (Consumption Type VAT) ซึ่งโดยหลักการทั่วไปมีความมุ่งหมายที่จะให้ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มตกต้องแก่ผู้บริโภค
เท่ากับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7.0 ของราคาสินค้าหรือค่าบริการที่ผู้บริโภคได้ซื้อหรือรับบริการเพื่อการบริโภคนั้น
คำว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Value Added Tax โดยใช้คำย่อว่า VAT ซึ่งในบางประเทศ เช่น แคนาดา
นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เป็นต้น ใช้คำว่า Goods and Service Tax (GST) หรือ ภาษีสินค้าหรือบริการ หรือในประเทศญี่ปุ่นใช้คำว่า Consumption
Tax หรือภาษีการบริโภค แทนคำว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายและหลักการของระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในบทนี้จะได้กล่าวถึงความหมายและหลักการทั่วไปของภาษีมูลค่าเพิ่มตามหัวข้อดังต่อไปนี้
1. ความหมายของภาษีมูลค่าเพิ่ม
คำว่า “มูลค่าเพิ่ม” (Value Added) หมายถึง
มูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้น ในแต่ละขั้นตอนการขายสินค้าหรือการให้บริการ
หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “มูลค่าเพิ่ม” หมายถึง ผลต่างของต้นทุนของสินค้าหรือบริการ
กับราคาสินค้าที่ขายหรือค่าบริการที่ได้ให้แก่ลูกค้า ผลต่างดังกล่าวได้แก่ ค่าจ้าง
ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และกำไร
ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม
จึงหมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นของสินค้าหรือบริการ
ในทุกขั้นตอนของการขายสินค้าหรือการให้บริการเฉพาะในส่วนที่ยังไม่ผ่านการเสียภาษีมูลค่า
เพิ่มมาก่อน
1.1 ในแง่ของผู้ประกอบการแต่ละราย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นของสินค้าหรือบริการ
ในแต่ละขั้นตอนของการขายสินค้าหรือการให้บริการ
เฉพาะในส่วนที่ยังไม่ผ่านการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาก่อน
1.2 ในแง่ของผู้บริโภค
เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มมุ่งหมายที่จะจัดเก็บจากการบริโภค
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคต้องรับภาระจากการบริโภคสินค้าหรือการรับบริการในแต่ละหน่วย
จึงเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้จ่ายสำหรับสินค้าหรือบริการแต่ละหน่วยนั้นรวมกัน
ดังนั้น
แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มจะมุ่งหมายที่จะจัดเก็บจากการบริโภคสินค้าหรือการให้บริการ แต่คำว่า
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นคำที่ใช้สำหรับจัดเก็บจากผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้บริการ
จึงย่อมเกิดความสับสนในหลักการ (Principle) และชื่อเรียก (Title) ระบบภาษีนี้อยู่เนืองๆ
2. ประเภทของภาษีมูลค่าเพิ่ม
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขอนำประเภทของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมากล่าวให้เห็นภาพของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่กำหนดจัดเก็บดังนี้
โดยทั่วไปภาษีมูลค่าเพิ่มแบ่งออกเป็น
3 ประเภทตามลักษณะของฐานภาษี ได้แก่
2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น
(Gross National
Product Type VAT หรือ GNP Type VAT)
เป็นระบบภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น
โดยจัดเก็บจากการบริโภคของประชาชน และจากการลงทุนของผู้ประกอบการ ไม่ยอมให้ผู้ประกอบการนำภาษีมูลค่า
เพิ่มจากการลงทุนในทรัพย์สิน หรือรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั้งหลาย (ภาษีซื้อ)
มาเครดิตหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือให้บริการ
(ภาษีขาย) และไม่ยอมให้หักค่าสึกหรอและค่าเลื่อมราคาสำหรับสินค้าทุน
2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ
(Net National Product
Type VAT หรือ NNP Type VAT)
เป็นระบบภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ โดยจัดเก็บจากการบริโภคของประชาชน
และจากการลงทุนของผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น
แต่ยอมให้ผู้ประกอบการหักค่าสึกหรอและค่าเลื่อมราคาสำหรับสินค้าทุน
2.3 ภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานการบริโภค
(Consumption Type VAT) เป็นระบบภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากการบริโภค โดยไม่จัดเก็บจากการลงทุน
จึงยอมให้ผู้ประกอบการนำภาษีมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนในทรัพย์สิน
หรือรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั้งหลาย (ภาษีซื้อ) มาเครดิตหักออกจากภาษีมูลค่า
เพิ่มที่ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือให้บริการ (ภาษีขาย)
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำมาใช้บังคับจัดเก็บในประเทศไทยเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานการบริโภค
ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนในฐานะผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายได้รับประโยชน์จากระบบสูงสุด
3. ความสัมพันธ์ของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ
ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและระบบภาษีธุรกิจเฉพาะ
เป็นระบบภาษีที่เป็นฝาแฝดคู่ขนาน ที่ไม่อาจแยกศึกษาต่างหากจากกัน
เพราะต่างพัฒนาจากระบบภาษีการค้า (BT: Business Tax) ตามหมวด 4 ภาษีการค้า ในลักษณ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 77
ถึงมาตรา 93 และบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4
เมื่อบัญญัติระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด
4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 77 ถึงมาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร รวม 115 มาตรา
ได้มีการบัญญัติหมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ มาตรา 91 ถึงมาตรา 91/21 แห่งประมวลรัษฎากร รวม 22 มาตรา
3.1 ความเป็นระบบภาษีฝาแฝดคู่ขนาน
3.1.1 ต่างก็เป็น
“ภาษีอากรประเมิน” (Assessment Tax)
3.1.2 ทั้งสองระบบภาษีเป็นภาษีการบริโภคมุ่งที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้บริโภค
(Consumption
Tax)
3.1.3 โดยทั่วไปต่างก็เป็น “ภาษีทางอ้อม” (Indirect Tax) เพราะรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากผู้บริโภคได้โดยตรง
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เว้นแต่ กรณีการนำเข้าสินค้าโดยผู้บริโภคที่ต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ณ ด่านศุลกากร หรือการให้บริการที่ได้กระทำในต่างประเทศ
และผู้บริโภคเป็นผู้ใช้บริการนั้น ผู้บริโคภต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36
และรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เอง ตามหลักภาษีทางตรง (Direct Tax)
3.1.4 ทั้งสองระบบมุ่งจัดเก็บจากการกระทำกิจการตามที่กฎหมายกำหนดไม่ว่า
ผู้กระทำกิจการนั้นจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน
กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นไปตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร มุ่งจัดเก็บจากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการทั่วไป
ที่สามารถคำนวณหามูลค่าเพิ่ม
กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ
เป็นไปตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร มุ่งจัดเก็บจากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือบริการที่คำนวณหามูลค่าเพิ่มได้ยาก
3.1.5 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ได้แก่ ผู้ประกอบการ และผู้นำเข้า
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการ
3.1.6 ทั้งสองระบบมีโครงสร้างทางกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน
และซ้ำกัน จึงได้มีการนำบทบัญญัติในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้กับระบบภาษีธุรกิจเฉพาะถึง
31 มาตรา อาทิ นิยามศัพท์บางคำตามมาตรา
77/1 แห่งประมวลรัษฎากร การยื่นรายการตามส่วน 7 การจดทะเบียนตามส่วน
9 การจัดทำรายงานและการเก็บรักษารายงานและเอกสารหลักฐาน ตามส่วน
11 อำนาจเจ้าพนักงานประเมินตามส่วน 12 เบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม
ตามส่วน 13 และบทกำหนดโทษ ตามส่วน 14
3.2 ความสัมพันธ์ของระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
และภาษีธุรกิจเฉพาะ
จากแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ของระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
และภาษีธุรกิจเฉพาะ
3.2.1 ในกรอบสี่เหลี่ยมใหญ่สมมติเป็นกรอบของรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการ
หรือรายได้อื่นใดที่เกิดจากการกระทำกิจการในราชอาณาจักร
3.2.2 การประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สมมติอยู่ในกรอบวงกลมสีน้ำเงิน
(1) หากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทตามมาตรา
81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548
ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ประกอบการมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบ
ภ.พ.01.1 เพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.01 ได้ตามมาตรา 81/3
(2) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) แต่ถ้าผู้ประกอบการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา
91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ก็ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
3.2.3 การประกอบกิจการตามมาตรา
81 (1)(ก) – (น) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239)
พ.ศ. 2534 เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) สำหรับการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
81 (1)(ก) – (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบการมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบ
ภ.พ.01.1 เพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.01 ได้ตามมาตรา 81/3
(1) แห่งประมวลรัษฎากร
(ก)
การขายพืชผลทางการเกษตร
(ข)
การขายสัตว์
(ค) การขายปุ๋ย
(ง) ปลาป่น อาหารสัตว์
(จ) ยา
เคมีภัณฑ์เพื่อกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์
(ฉ)
หนังสือพิมพ์ นิตสาร และตำราเรียน
(2) กรณีส่งออกสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
81 (1)(ก) – (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ออกไปต่างประเทศ
ถือเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1)
แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
จึงต้องนำมารวมกับรายได้จากการขายสินค้าตามมาตรา 77/2 (1) แหงประมวลรัษฎารก
หากรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
ผู้ประกอบการย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) การประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 241) พ.ศ. 2534 ดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบการมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบ
ภ.พ.01.1 เพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.01 ได้ตามมาตรา 81/3
(3) แห่งประมวลรัษฎากร
(ก) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยอากาศยาน
(ข) การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(เขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร)
(ค)
การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
(ง)
การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร สำหรับการให้บริการขนส่งทางทะเลโดยเรือเดินทะเล
ทั้งนี้
ให้รวมถึงการให้บริการขนส่งระหว่างทะเลกับแม่น้ำในราชอาณาจักรโดยเรือเดินทะเลด้วย
3.2.4 การประกอบกิจการตามมาตรา
91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ในกรอบสี่เหลี่ยมสีฟ้าอมเทา
เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ประกอบด้วย
(1) การธนาคาร
ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายเฉพาะ
(2) การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์
ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์
และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(3) การรับประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
การรับประกันวินาศภัยถูกกำหนดให้เป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป
(4) การรับจำนำตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ
(5) การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน
ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน
หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ
(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้
เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป
(7) การขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์
ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534
(8) การประกอบกิจการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ดังนี้
(ก) กิจการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาด
หลักทรัพย์ เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามพระราชกฤษฎีกา
(ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 7)
(ข)
การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 358) พ.ศ. 2542
อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบกิจการตามมาตรา
91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าว ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ให้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
91/4 แห่งประมวลรัษฎากร
3.2.5 การประกอบกิจการตามมาตรา
91/3 แห่งประมวลรัษฎากร ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียว
เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบกิจการตามมาตรา
91/3 แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าว ทั้งนี้
เฉพาะที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจพาะทั้งกิจการ ได้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ก็ให้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตา 91/4 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น
กิจการของการเคหะแห่งชาติ ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ เพียงแต่เฉพาะการขายหรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์
เท่านั้น เช่นนี้ หากการเคหะแห่งชาติประกอบกิจการอื่นในที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เช่น ขายน้ำประปา ให้บริการส่วนกลาง ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
ในขณะที่กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะอื่นที่ทั้งกิจการ อาทิ
ธนาคารของรัฐบาลทั้งหลาย เช่น ธนาคารออมสิน เป็นต้น ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ไม่ว่าจะมีรายได้ในประการใดก็ตาม
3.2.6 กิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร หรือที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/3 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope) ตามมาตรา 77/3 แห่งประมวลรัษฎากร