ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินให้ผู้รับจ้างช่วง

บทความวันที่ 12 ม.ค. 2564  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 6118 ครั้ง


การโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินให้ผู้รับจ้างช่วง


ปุจฉา: 

สวัสดีครับ อาจารย์

          ผมรบกวนสอบถามปัญหาเรื่องการออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน เนื่องจากการโอนสิทธิ ครับบริษัท ก ทำสัญญาจ้างทำระบบให้กับเทศบาลแห่งหนึ่ง โดยบริษัท ก ได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาให้บริษัท ข ซึ่งบริษัท ข เป็นผู้รับเหมาช่วงจากบริษัท ก ในการติดตั้งระบบให้กับทางเทศบาล โดยเทศบาลได้รับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ทางเทศบาลแจ้งว่า ให้บริษัท ข ออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน เพราะเป็นผู้ดำเนินงานติดตั้งและรับเงิน แต่บริษัท ข แย้งว่า บริษัทฯ ไม่ได้เป็นคู่สัญญาตรงกับทางเทศบาล คู่สัญญาตรงคือ บริษัท ก ดังนั้นผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน เป็นหน้าที่ของบริษัท ก หากต้องการให้บริษัท ข ออกหลักฐานการรับเงิน บริษัทฯ ทำได้เพียงใบรับเงินเท่านั้น  อยากทราบว่าการโอนสิทธิ์ดังกล่าวผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน ให้กับเทศบาล คือ บริษัท ก ในฐานะคู่สัญญานฐานะผู้ให้บริการใช่หรือไม่

 

สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วิสัชนา:

         กรณีบริษัท ก จำกัด ทำสัญญาจ้างทำระบบให้กับเทศบาลแห่งหนึ่ง โดยบริษัท ก จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาให้บริษัท ข จำกัด ซึ่งบริษัท ข จำดัด เป็นผู้รับเหมาช่วงจากบริษัท ก จำกัด ในการติดตั้งระบบให้กับทางเทศบาล โดยเทศบาลได้รับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว เช่นนี้

          1. บริษัท ก จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับทางเทศบาลเท่านั้นที่จะมีสิทธิออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินให้แก่เทศบาล โดยเทศบาลมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตรา 1% ของเงินได้ ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

          2. บริษัท ข จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของบริษัท ก จำกัด เมื่อไดบริษัท ข จำกัด ได้รับเงินจากเทศบาล ถือเป็นการรับเงินแทนบริษัท ก จำกัด และได้รับเงินจากบริษัท ก จำกัด ไปพร้อมกัน บริษัท ข จำกัด มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินให้แก่บริษัท ก จำกัด โดยบริษัท ก จำกัด ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3% ของเงินได้ ตามมาตรา 3 เตรส  แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ดังภาพประกอบ