ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ตอนที่ 4

บทความวันที่ 25 ส.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 8746 ครั้ง

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ตอนที่ 4

 

ประมวลรัษฎากร ฉบับเริ่มแรกที่ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จำนวน 42 ฉบับ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จำนวน 18 ฉบับ รวมทั้งประกาศของคณะปฏิวัติ และประกาศของคณะปฏิรูปการปกตรองแผ่นดินอีก 3 ฉบับรวมเป็น 63 ครั้งนั้น

ฉบับเริ่มแรกแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ รวม 164 มาตรา ดังนี้คือ

ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น ตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 4 รวม 4 มาตรา

ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 143 รวม 139 มาตรา

ลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ ตั้งแต่มาตรา 144 ถึงมาตรา 164 รวม 21 มาตรา

ในขณะที่ปัจจุบันมีเพียง 2 ลักษณะ เพราะลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ถูกยกเลิกไปเป็นกฎหมายเดียว ด้วยพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 กลับกลายเป็นว่ามีมาตราทั้งสิ้นถึง 310 มาตรา คือ

ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น ตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 4 ทศ รวม 26 มาตรา เพิ่มขึ้น 22 มาตรา

ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 129 รวม 284 มาตรา ประกอบด้วย

      หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา 5 ถึงมาตรา 13 รวม 14 มาตรา)

      หมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร (มาตรา 6 ถึงมาตรา 13 อัฏฐ รวม 7 มาตรา)

      หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน (มาตรา 14 ถึงมาตรา 37 ทวิ รวม 33 มาตรา)

      หมวด 3 ภาษีเงินได้ (มาตรา 38 ถึงมาตรา 76 ทวิ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้ รวม 62 มาตรา)

      หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 77 ถึงมาตรา 90/5 รวม 115 มาตรา)  

      หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 91 ถึงมาตรา 91/21 รวม 22 มาตรา)

      หมวด 6 อากรแสตมป์ (มาตรา 103 ถึงมาตรา 129 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ รวม 31 มาตรา)

แม้เลขตัวบทมาตราจะน้อยลง ถึงเพียงมาตราสุดท้ายคือ มาตร 129 แต่จำนวนมาตรารวมกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก นั่นเป็นเพราะมีการแทรกเลขมาตราเพิ่มขึ้นในประมวลรัษฎากร การแทรกเลขมาตราในประมวลรัษฎากรมี 2 ระบบ คือ

1. ระบบดั้งเดิม (Classical)

ด้วยการเติมคำบาลีสันสกฤต ที่มีความหมายว่าลำดับที่ไว้ท้ายเลยมาตราที่ต้องการแทรก เช่น ระหว่างมาตรา 3 กับมาตรา 4 ได้แทรกมาตราเพิ่มอีก 13 มาตรา คือ

มาตรา 3 ทวิ แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่สอง

มาตรา 3 ตรี แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่สาม

มาตรา 3 จัดวา (จัต-ตะ-วา) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่สี่

มาตรา 3 เบญจ (เบน-จะ) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่ห้า

มาตรา 3 ฉ (ฉะหรือฉอ) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่หก

มาตรา 3 สัตต (สัด-ตะ) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่เจ็ด

มาตรา 3 อัฏฐ (อัด-ถะ) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่แปด

มาตรา 3 นว (นะ-วะ) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่เก้า

มาตรา 3 ทศ (ทะ-สะ) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่สิบ

มาตรา 3 เอกาทศ แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่สิบเอ็ด

มาตรา 3 ทวาทศ แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่สิบสอง

มาตรา 3 เตรส (เด-ระ-สะ) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่สิบสาม

มาตรา 3 จตุทศ (จะ-ตุ-ทะ-สะ) แปลว่ามาตรา 3 ครั้งที่สิบสี่

นอกจากนี้ยังมีการแทรกจนถึงครั้งที่ยี่สิบสี่ โดยเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 มีการแทรกมาตราไปจนถึงมาตรา 5 จตุวีสติ

มาตรา 5 ปัณรส (ปัน-นะ-ระ-สะ) แปลว่า มาตรา 5 ครั้งที่สิบห้า (15)

มาตรา 5 โสฬส (โส-ละ-สะ) แปลว่า มาตรา 5 ครั้งที่สิบหก (16)

มาตรา 5 สัตตรส (สัด-ตะ-ระ-สะ) แปลว่า มาตรา 5 ครั้งที่สิบเจ็ด (17)

มาตรา 5 อัฏฐารส (อัด-ถา-ระ-สะ) แปลว่า ครั้งที่สิบแปด (18)

มาตรา 5 เอกูนวีสติ (เอ-กู-นะ-วี-สะ-ติ) แปลว่า ครั้งที่สิบเก้า (19)

มาตรา 5 วีสติ (วี-สะ-ติ) แปลว่า ครั้งที่ยี่สิบ (20)

มาตรา 5 เอกวีสติ (เอ-กะ-วี-สะ-ติ) แปลว่า ครั้งที่ยี่สิบเอ็ด (21)

มาตรา 5 ทวาวีสติ (ทะ-วา-วี-สะ-ติ) แปลว่า ครั้งที่ยี่สิบสอง (22)

มาตรา 5 เตวีสติ (เต-วี-สะ-ติ) แปลว่า ครั่งที่ยี่สิบสาม (23)

มาตรา 5 จตุวีสติ (จะ-ตุ-วี-สะ-ติ) แปลว่า ครั่งที่ยี่สิบสี่ (24)

วิธีการดังกล่าวใช้กับบทบัญญัติในลักษณะ 1 และลักษณะ 2 หมวด 1 หมวด 1 ทวิ หมวด 2 หมวด 3 และหมวด 6 รวมทั้งในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 เป็นต้น

 

2. ระบบใหม่ (Modernize)

โดยการใส่เครื่องหมาย / (ทับ) พร้อมทั้งเติมหมายเลขลำดับที่ต้องการแทรกต่อท้าย เช่น มาตรา 77 แทรกมาตราเพิ่มเติมเป็น มาตรา 77/1 มาตรา 77/2 ... มาตรา 77/5 เช่นเดียวกับการแทรกบ้านเลขที่

ด้วยวิธีการนี้ จะพบได้ในหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม และหมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เป็นต้น