ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ปุจฉา - วิสัชนา การรับรู้รายได้จากการส่งสินค้าออกไปฝากขาย

บทความวันที่ 18 ก.ย. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2725 ครั้ง

ปุจฉา - วิสัชนา การรับรู้รายได้จากการส่งสินค้าออกไปฝากขาย


ปุจฉา:

23 มีนาคม พ.ศ. 2562 = ลูกค้ามาวางเงินประกันที่เมืองไทย = 300,000 บาท (ลุกค้ายืมสินค้าไปขายก่อนโดยไม่รู้ว่า จะขายได้มากน้อยเท่าไร เนื่องจากลูกค้ารายนี้เขาหัก % จากการขายสินค้าได้)

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 = ส่งไป Export ไปงาน fair ต่างประเทศ = 8,000 usd ซึ่งยื่น ภพ.30 เรียบร้อยแล้วใน เดือน 5 เต็มจำนวน 8,000 usd

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 = ลูกค้าสามารถขายหน้าร้านได้มากกว่า 8,000 usd ซึ่งขายได้ = 14,500 usd

(ลูกค้าจะโอนเงินมาให้ตาม invoice = 8,000 usd แล้วส่วนต่างที่ขายได้มากกว่า = 14,500 usd ซึ่งบริษัทได้รับเงินแล้ว ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่เขามาไทย)

***คำถามคือ = ส่วนต่างที่ขายได้มากกว่า invoice = 14,500 usd (27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562) บริษัทฯ รับเงิน = 300,000 บาท (23 มีนาคม พ.ศ. 2562) ทางบริษัทฯ ต้องยื่น

1. ภ.พ.30 เพิ่มเติม เดือนไหน

2. ต้องยื่นรายได้เสีย 7% หรือ ยื่นรายได้ส่งออก

 

วิสัชนา:

ตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดเงื่อนไขการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ตัวแทน ถือเป็นการขาย (Deemed Sale) ดังนี้

มาตรา 70 ตรี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ หรือตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ สาขา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ตัวการ ตัวแทน นายจ้าง หรือลูกจ้าง ให้ถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยด้วย และให้ถือ

    ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สินค้านั้น

    (1) เป็นของที่ส่งไปเป็นตัวอย่างหรือเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ

    (2) เป็นของผ่านแดน

    (3) เป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วส่งกลับออกไปให้ผู้ส่งเข้ามาภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่สินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร

    (4) เป็นของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วส่งกลับคืนเข้ามาให้ผู้ส่งในราชอาณาจักรภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร”

ตามมาตรา 78 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออกสินค้าดังนี้

มาตรา 78 ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้...

    (4) การขายสินค้าโดยส่งออก ให้ความรับผิดเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

         (ก) การส่งออกนอกจากที่ระบุใน (ข) หรือ (ค) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออก ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

         (ข) การส่งออกในกรณีที่นำสินค้าเข้าไปในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1 (14)(ก) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่นำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตดังกล่าว

         (ค) การส่งออกซึ่งสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ความรับผิดเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร”

ตามมาตรา 79/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการส่งออกด้งนี้

มาตรา 79/1 ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการในกิจการเฉพาะอย่างให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

    (1) ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าโดยการส่งออก ได้แก่ มูลค่าของสินค้าส่งออก โดยให้ใช้ราคา เอฟ.โอ.บี. ของสินค้าบวกด้วยภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ไม่ให้รวมอากรขาออก

         ราคา เอฟ.โอ.บี. ได้แก่ ราคาสินค้า ณ ด่านศุลกากรส่งออกโดยไม่รวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งจากด่านศุลกากรส่งออกไปต่างประเทศ”

 

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า

1. กรณีที่บริษัทฯ ได้รับเงินประกันจากลูกค้าในต่างประเทศจำนวน 300,000 บาท เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562 นั้น บริษัทฯ ยังไม่ต้องรับรู้รายได้ทั้งกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด แต่ให้บันทึกเป็นเจ้าหนี้เงินมัดจำค่าสินค้า ให้บันทึกรายการบัญชีโดย

เดบิต เงินสด/เงินฝากธนาคาร...300,000

     เครดิต เงินมัดจำ.............................300,000


2. เมื่อบริษัทฯ ดำเนินพิธีการทางศุลกากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปฝากขาย ณ วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราคาตามอินวอยส์ USD 8,000 หากราคาดังกล่าว เป็นราคา F.O.B ก็ให้บริษัทฯ รับรู้รายได้ดังนี้

    2.1 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล

         บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ทางภาษีอากรโดยปรับปรุงเพิ่มรายได้ที่กฎหมายกำหนดในแบบ ภ.ง.ด.50 เนื่องจากการส่งสินค้าออกไปให้แก่ตัวแทนในต่างประเทศ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และรับรู้ต้นทุนทางภาษีอากรสำหรับรายได้ดังกล่าว ตามหลักการจับคู่ของรายจ่ายกับรายได้ (Matching Principle) ตามเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

    2.2 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

..........บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้จากการขายสินค้าโดยการส่งออกในแบบ ภ.พ.30 ตามมาตรา 77/1 (8) และ (14) ประกอบกับมาตรา 78 (4) แห่งประมวลรัษฎากร โดยได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ราคาตามอินวอยส์จำนวน USD 8,000 ที่ถือเป็นราคา F.O.B. เพื่อการบันทึกในรายงานภาษีขาย และในแบบ ภ.พ.30 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซื่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้


3. เมื่อตัวแทนขายสินค้าได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น USD 14,500 ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 รายการดังกล่าว มีผลกระทบต่อภาษีเงินได้นิติบุคคลและทางบัญชี ดังนี้

    3.1 บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้จำนวนดังกล่าวในทางบัญชี ที่เพิ่งจะรับรู้เป็นรายได้ และในทางภาษีอากรตามหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยตามมาตรา 66 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร และบันทึกรายการบัญชีโดย

เดบิต ลูกหนี้ตัวแทน (ส่วนต่างของยอดขายจริงกับเงินมัดจำ)

        เงินมัดจำ.......................300,000

    เครดิต รายได้ .................................xxx

          และให้บริษัทฯ รับรู้รายจ่ายค่าคอมมิชชั่น ตามอัตราที่ตกลงกับตัวแทน และบันทึกรายการบัญชีโดย

เดบิต ค่าคอมมิชชั่น

    เครดิต ลูกหนี้

          ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับรู้ฐานภาษีสำหรับการขายโดยการส่งออกตามราคา F.O.B. แล้ว และในทางภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับใบเพื่มหนี้สำหรับการส่งออก เมื่อบันทึกรับรู้มูลค่าของฐานภาษีตามราคา F.O.B. แล้ว ก็นไม่ต้องปรับปรุงยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมอีก

    3.2 ให้บริษัทฯ รับรู้ต้นทุนในทางบัญชีตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง และในทางภาษีอากร ให้รับรู้ยอดรายได้ที่ได้เคยรับรู้เป็นการขาย (Deemed Sale) ตามมาตรา 70 ตรีตามข้อ 2.1 ข้างต้น เป็นต้นทุนสินค้าที่ขายในแบบ ภ.ง.ด.50


4. เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ในส่วนที่เหลือ ก็ให้ล้างบัญชีลูกหนี้ออกไป