ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ว่าด้วยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. และ ป. และรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ

บทความวันที่ 12 ก.ย. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 4905 ครั้ง

ว่าด้วยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. และ ป.

และรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ

 

1. ความแตกต่างของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. กับคำสั่งกรมสรรพากร ป.

อาจจำแนกความแตกต่างของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. ได้ดังนี้

1.1 คำสั่งกรมสรรพากร ท.ป. .../(พ.ศ.)

      (1) คำว่า ท.ป. ย่อมาจากคำว่า “ทั่วไป” (General) มีใช้ในประมวลรัษฎากรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา คือ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ว่าด้วยเกณฑ์รับรู้รายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งแต่เดิมกรมสรรพากรได้เคยออกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ใช้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ด้วย “คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. .../(พ.ศ.)” ท่านอธิบดีวิทย์ ตันตยกุล ได้ดำริให้จัดหมวดคำสั่งกรมสรรพากรที่ใช้กับประมวลรัษฎากร เป็น “คำสั่งกรมสรรพากร ท.ป. .../(พ.ศ.)”

      (2) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. นั้นมีบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรในอันที่จะออกคำสั่งให้ผู้ทีเกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง เช่น คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ที่ไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 หรือมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้

      (3) คำสั่งกรมสรรพากร ท.ป. .../(พ.ศ.) จึงถือเป็นกฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติ ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร

      (4) คำสั่งกรมสรรพากร ท.ป. .../(พ.ศ.) มีเฉพาะแต่ประเด็นตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้เท่านั้น

 

1.2 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.)

      (1) คำว่า ป. ย่อมาจากคำว่า แนวทางปฏิบัติ (Ruling)

      (2) แต่เดิมกรมสรรพากรออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ต. .../(พ.ศ.) ซึ่งคำว่า “ต.” นั้นให้หมายความว่า “ตีความ” สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ไม่ถูกต้อง ที่กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานปฏิบัติจึงไม่อาจ “ตีความ” บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรได้ ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความเท่านั้น เว้นแต่ตามประมวลรัษฎากรจะได้มีบทบัญญัติให้กระทำเช่นนั้นได้ กรมสรรพากรจึงได้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ต. .../(พ.ศ.) เสียทั้งหมดแล้วเปลี่ยนมาใช้ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.) นับแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ดังจะเห็นได้จาก คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. /2526 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2525 เป็นต้นไปเพิ่ม “หมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร” ตั้งแต่มาตรา 13 ทวิ ถึงมาตรา 13 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2525 เป็นต้นไป

      (3) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. เป็นแนวปฏิบัติที่กรมสรรพากรไม่มีอำนาจในอันที่จะสั่งให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติตาม แต่อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจที่จะสั่งเจ้าพนักงานอันเป็นผู้ใต้งบังคับบัญชาให้ถือปฏิบัติในการตรวจสอบ หรือให้คำแนะนำแก้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีอากร

      (4) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. จึงไม่ถือเป็นกฎหมายลูกที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น

      (5) มีคำสั่งกรมสรรพากร ป. .../(พ.ศ.) หลายต่อหลายฉบับที่เป็นการนำแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากรมาเขียนในรูปของคำสั่งกรมสรรพากร ป. .../(พ.ศ.) เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้ไม่ต้องตอบข้อหารือซ้ำๆ อีกต่อไป และช่วยสร้างความเข้าใจแก่ผู้เสียภาษีอากรในแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในแต่ละเรื่องที่กรมสรรพากรต้องการ

      (6) คำสั่งกรมสรรพากร ป. .../(พ.ศ.) อาจมีประเด็นทางภาษีเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น และหลายประเภทภาษีอากรก็ได้

      (7) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.) อาจใช้ในการอุดช่องโหว่ของกฎหมาย หรือเติมเต็มแนวทางปฏิบัติของกฎหมายแห่งประมวลรัษฎากรให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

1.3 ต้องปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.) หรือไม่

      คำกล่าวว่า “คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. ไม่ใช่กฎหมาย” คำว่า “ไม่ใช่กฎหมาย” แปลว่า “ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามก็ได้ ไม่มีความผิด” นั้น คำกล่าวดังกล่าว นับว่าถูกต้อง

      แต่...การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร โดยเฉพาะคำสั่งที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ปฎิบัติ นอกจากเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ยังอาจขึ้นชื่อว่า ไม่ให้ความร่วมมือต่อทางราชการ เว้นแต่ พิจารณาเห็นว่า คำสั่งกรมสรรพากร ฉบับนั้นๆ ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หรือข้ดกับอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ก็สามารถมีความเห็นที่ขัดแย้งได้ด้วยเหตุด้วยผล จึงต้องขอให้ระบุให้ชัดเจนว่า “จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.)” ฉบับนั้น ด้วยเหตุผลกลใด

      ต้องเข้าใจว่า มีหลายคำสั่งกรมสรรพากรที่นำบทบัญญัติของกฎหมายมาวางเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจเหมารวมไปเสียทุกฉบับ ว่าจะไม่ปฎิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.) และทำให้ความเห็นไม่ตรงกับสรรพากร จึงควรระบุให้ชัดเจนว่า คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.) ฉบับใดที่ไม่เห็นด้วย โดยมีข้อกฎหมายหรือเหตุผลสนับสนุน สำหรับการฟ้องร้องต่อศาลภาษีอากรกลาง นั้น ใช่ว่า ศาลจะไม่นำคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. มาพิจารณา เพราะไม่ใช่กฎหมาย ไปเสียทุกฉบับ พึงต้องจำแนกเป็นรายกรณ๊ไป

 

ข้อเปรียบเทียบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 

 

รายการ

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.

1. ความหมายและที่มา

คำว่า ท.ป. ย่อมาจากคำว่า “ทั่วไป” (General) มีใช้ในประมวลรัษฎากรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา คือ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ว่าด้วยเกณฑ์รับรู้รายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งแต่เดิมกรมสรรพากรได้เคยออกคำสั่งกรม สรรพากร ที่ใช้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ด้วย “คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. .../(พ.ศ.)” ท่านอธิบดีวิทย์ ตันตยกุล ได้ดำริให้จัดหมวดคำสั่งกรมสรรพากรที่ใช้กับประมวลรัษฎากร เป็น “คำสั่งกรมสรรพากร ท.ป. .../(พ.ศ.)”

คำว่า ป. ย่อมาจากคำว่า แนวทางปฏิบัติ (Ruling)

แต่เดิมกรมสรรพากรออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ต. .../(พ.ศ.) ซึ่งคำว่า “ต.” นั้นให้หมายความว่า “ตีความ” สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ไม่ถูกต้อง ที่กรมสรรพากรเป็นหน่วยปฏิบัติจึงไม่อาจ “ตีความ” บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรได้ ต้องส่งเรื่องให้คณะ กรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความเท่านั้น เว้นแต่ตามประมวลรัษฎากรจะได้มีบทบัญญัติให้กระทำเช่นนั้นได้ กรมสรรพากรจึงได้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ต. .../(พ.ศ.) เสียทั้งหมดแล้วเปลี่ยนมาใช้ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.) นับแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ดังจะเห็นได้จาก คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. /2526 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2525 เป็นต้นไปเพิ่ม “หมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร” ตั้งแต่มาตรา 13 ทวิ ถึงมาตรา 13 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2525 เป็นต้นไป

2. ความเป็นกฎหมาย

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. นั้น มีบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรในอันที่จะออกคำสั่งให้ผู้ทีเกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง เช่น คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ที่ไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 หรือมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้

    คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. เป็นแนวปฏิบัติที่กรมสรรพากรไม่มีอำนาจในอันที่จะสั่งให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติตาม แต่อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจที่จะสั่งเจ้าพนักงานอันเป็นผู้ใต้งบังคับบัญชาให้ถือปฏิบัติในการตรวจสอบ หรือให้คำแนะนำแก้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีอากร

    คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. จึงไม่ถือเป็นกฎหมายลูกที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น

    มีคำสั่งกรมสรรพากร ป. .../(พ.ศ.) หลายต่อหลายฉบับที่เป็นการนำแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากรมาเขียนในรูปของคำสั่งกรมสรรพากร ป. .../(พ.ศ.) เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้ไม่ต้องตอบข้อหารือซ้ำๆ อีกต่อไป และช่วยสร้างความเข้าใจแก่ผู้เสียภาษีอากรในแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในแต่ละเรื่องที่กรมสรรพากรต้องการ

3. ประเด็นในคำสั่ง

คำสั่งกรมสรรพากร ท.ป. .../(พ.ศ.) มีเฉพาะแต่ประเด็นตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้เท่านั้น

คำสั่งกรมสรรพากร ป. .../(พ.ศ.) อาจมีประเด็นทางภาษีเพียงประเด็นเดียว หรือหลายประเด็น และประกอบด้วยหลายประเภทภาษีอากรก็ได้

4. การใช้เพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมาย

ไม่มี

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.) อาจใช้เพื่อการอุดช่องโหว่ของกฎหมาย หรือเติมเต็มแนวทางปฏิบัติของกฎหมายแห่งประมวลรัษฎากรให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

5. หน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

เนื่องจากคำสั่งกรมสรรพากรที ท.ป. มีลำดับศักดิ์เป็นกฎหมายที่ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ไม่อาจบิดพริ้วได้ อาจต้องรับผิดในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม

การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร โดยเฉพาะคำสั่งที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ปฎิบัติ นอกจากเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ยังอาจขึ้นชื่อว่า ไม่ให้ความร่วมมือต่อทางราชการ เว้นแต่ พิจารณาเห็นว่า คำสั่งกรมสรรพากร ฉบับนั้นๆ ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หรือข้ดกับอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ก็สามารถมีความเห็นที่ขัดแย้งได้ด้วยเหตุด้วยผล จึงต้องขอให้ระบุให้ชัดเจนว่า “จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../(พ.ศ.)” ฉบับนั้น ด้วยเหตุผลกลใด

 

2. ภาษีซื้อสำหรับรายจ่ายค่าบริการที่จ่ายให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์

ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายที่จ่ายให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ในฐานะที่เป็น “บริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ทำหน้าที่เป็นตลาดรองเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายตราสารทุน ของบริษัทต่าง ๆ ที่ได้จดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ไว้ ทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้โดยสะดวก การระดมเงินทุนของบริษัทฯ ในฐานะบริษัทจดทะเบียนจากตลาดทุนโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนของธุรกิจต่าง ๆ นอกเหนือจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยทั่วไป ทำให้บริษัทฯ สามารถระดมเงินทุนระยะยาวเพื่อใช้ในการลงทุนและดำเนินธุรกิจได้ตามที่ต้องการโดยไม่ต้องมีภาระจากดอกเบี้ยเงินกู้และสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับส่วนของเจ้าของ

ในส่วนของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์หรือบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการให้บริการในระบบหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ (Back-Office Systems) ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ สูงสุด และได้มาตรฐานสากล โดยให้บริการนายทะเบียนหลักทรัพย์ มีหน้าที่ในการดูแลและรักษาข้อมูลหลักทรัพย์ และจัดทำทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเชื่อมโยงกับระบบงานรับฝากหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีระบบการเก็บรักษา รวบรวมและประมวลผลข้อมูล ในทะเบียนหลักทรัพย์ ตลอดจนระบบสำรอง กรณีระบบหลักไม่สามารถใช้งานได้ และมีระบบห้องมั่นคงเพื่อจัดเก็บใบหลักทรัพย์และเอกสารสิทธิต่าง ๆ ให้ปลอดภัย ระบบบริหารข้อมูลสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและระบบตรวจสอบกิจการภายในเพื่อลดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ

ดังนั้น ภาษีซื้อสำหรับรายจ่ายที่จ่ายให้แก่ตลาดหลักทรัพย์และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ จึงเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการประเภทที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีต้องห้ามตามข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ที่กล่าวว่า "ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม" แต่อย่างใด

การที่เจ้าพนักงานสรรพากร ไม่ยอมให้นำภาษีซื้อสำหรับรายจ่ายที่จ่ายให้แก่ตลาดหลักทรัพย์และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์มาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกล่าวหาว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จึงเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ภาษีซื้อสำหรับรายจ่ายค่านายหน้าแก่โบรกเกอร์ กรณีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม เนื่องจากการลงทุนในหลักทรัพย์เป็นกิจการที่ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามนิยามศัพท์คำว่า “บริการ” ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้ ผลตอบแทนที่ได้จากการนำเงินไปหาประโยชน์ โดยการฝากธนาคาค หรือซื้อพันธบัตร หรือหลักทรัพย์ ไม่เข้าลักณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้

(10) “บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง

       (ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้ เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) ประกอบ)

       (ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์

       (ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”