บริจาคให้สภากาชาดหักลดหย่อนหรือรายจ่ายได้ 200%
บทความวันที่ 25 ก.ค. 2563 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 2785 ครั้ง
บทความวันที่ 25 ก.ค. 2563 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 2785 ครั้ง
บริจาคให้สภากาชาดหักลดหย่อนได้ 200%
ได้มีการกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
สำหรับการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย
เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทยในการปฏิบัติภารกิจด้านการบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัยของประชาชน
การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย การบริการโลหิต การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง
เป็นจำนวน 200% ของรายจ่ายที่บริจาค ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 706) พ.ศ. 2563 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
(ฉบับที่ 19) วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ดังนี้
1. “ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า
ระบบที่ใช้สร้างและเก็บรักษาข้อมูลการบริจาคในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
2. กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2.1 ต้องบริจาคเป็นเงินให้แก่สภากาชาดไทยโดยผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
2.2 ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย
และหักลดหย่อน ดังนี้
(1) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว
มารวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้
และไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนตามมาตรา
47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(2)
เมื่อรวมคำนวณเงินได้ตาม (1) แล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา
47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
2.3 บุคคลธรรมดาที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย
ตาม 2.2 ต้องไม่นำเงินบริจาคที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น
ไปหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
3.1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาค
ตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 706) พ.ศ. 2563 จะบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย เป็นเงิน
ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้
3.2 ในกรณีที่บริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า
ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังนี้
(1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซื้อทรัพย์สินมาเพื่อบริจาค
ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินนั้น
โดยให้ถือว่า มูลค่าตามหลักฐานดังกล่าวเป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค
(2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำทรัพย์สินที่ได้บันทึกทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมาบริจาค
ให้ถือเอามูลค่าที่เหลือจากการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา
เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค
(3) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำสินค้ามาบริจาค
ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทีผลิตเองหรือที่ซื้อมาเพื่อขาย
ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่มีเอกสารหลักฐานพิสูจน์ได้
เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่มูลค่าดังกล่าวต้องไม่เกินราคาสินค้าคงเหลือ ตามมาตรา
65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(4) มูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่ซื้อมาเพื่อบริจาคนั้น
จะต้องมีจำนวนไม่เกินราคาที่พึงซื้อได้ ตามมาตรา 65 ตรี (15)
แห่งประมวลรัษฎากร
3.3 ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค
ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน
3.4 การยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกับรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายและไม่เกินร้อยละ
10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์
และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
(2)
เมื่อรวมคำนวณรายจ่ายตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์
และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
3.5 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย
ตาม 2.4 ต้องไม่นำเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ไปหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา
65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
4. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยตามข้อ 3 และข้อ 4 โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระท าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม
5. การบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย
ให้ใช้ข้อมูลการบริจาคที่ปรากฏในระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามมาตรา 3 และมาตรา 6
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 706)
พ.ศ. 2563 โดยผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานการบริจาคแก่เจ้าพนักงานประเมิน
พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 706)
พ.ศ. 2563
------------------------
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ 20
มิถุนายน พ.ศ. 2563
เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในบางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา
175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และมาตรา 3 (1)
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2496
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
มาตรา 1
พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 706) พ.ศ. 2563”
มาตรา 2
พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา
3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน
2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สภากาชาดไทยที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31
ธันวาคม พ.ศ. 2565 ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย
และหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค
(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สินการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา
4
การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 (1) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา
3 (1) มารวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้และไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา
47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) เมื่อรวมคำนวณเงินได้ตาม (1)
แล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา
47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา
5
การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 (2) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา
3 (2) มารวมคำนวณกับรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายและไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ
หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65
ตรี (3)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) เมื่อรวมคำนวณรายจ่ายตาม (1)
แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์
และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา
6
ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามหมวด 4
ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน
หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยตามมาตรา
3 โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า
ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระท าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563
ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา
7
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย
เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทยในการปฏิบัติภารกิจด้านการบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัยของประชาชน
การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย การบริการโลหิต
การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 45 ก 22
มิถุนายน 2563 หน้า 49 – 52
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
(ฉบับที่ 19)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย
ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
---------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา
3 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 706) พ.ศ. 2563 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้
ข้อ
1 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 706) พ.ศ. 2563 จะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น
ข้อ
2 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
สำหรับการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย ตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 706) พ.ศ. 2563 จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน
หรือสินค้า ก็ได้
ในกรณีที่บริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า
ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังนี้
(1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซื้อทรัพย์สินมาเพื่อบริจาค
ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินนั้น
โดยให้ถือว่า มูลค่าตามหลักฐานดังกล่าวเป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค
(2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำทรัพย์สินที่ได้บันทึกทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมาบริจาค
ให้ถือเอามูลค่าที่เหลือจากการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค
(3) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำสินค้ามาบริจาค
ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทีผลิตเองหรือที่ซื้อมาเพื่อขาย ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่มีเอกสารหลักฐานพิสูจน์ได้
เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่มูลค่าดังกล่าวต้องไม่เกินราคาสินค้าคงเหลือ
ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(4) มูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่ซื้อมาเพื่อบริจาคนั้น
จะต้องมีจำนวนไม่เกินราคาที่พึงซื้อได้ ตามมาตรา 65 ตรี (15) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 3 บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย
ตามข้อ 1 และข้อ 2 ต้องไม่นำเงินบริจาคที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น
ไปหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร หรือต้องไม่นำเงิน
ทรัพย์สิน หรือสินค้าได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ไปหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65
ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 4 การบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย
ให้ใช้ข้อมูลการบริจาคที่ปรากฏในระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามมาตรา 3 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 706) พ.ศ. 2563
โดยผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานการบริจาคแก่เจ้าพนักงานประเมิน
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.
2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)
อธิบดีกรมสรรพากร