อนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไข ระหว่างไทยและสิงคโปร์ และการตีความค่าสิทธิ
บทความวันที่ 23 เม.ย. 2563 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 22918 ครั้ง
บทความวันที่ 23 เม.ย. 2563 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 22918 ครั้ง
อนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไข ระหว่างไทยและสิงคโปร์ และการตีความค่าสิทธิ
กรณีบริษัทฯ ขายอุปกรณ์ที่ซื้อจากบริษัทตัวแทนในสิงคโปร์ ให้ลูกค้าในไทย โดยรวมรับประกันการใช้งานพร้อม technical support (remote, telephone, email) และฟรีค่าซ่อมแซม หากอยู่ในรับประกัน เมื่อสิ้นสุดรับประกัน ทางบริษัทฯ ได้เสนอขายการต่อประกัน (Hardware Maintenance and support) ทั้งนี้ ค่าบริการด้งกล่าว จะรวมถึงสิทธิในการ upgrade firmware หรือ patch update หากซอฟท์แวร์ ที่ใช้ในอุปกรณ์มีปัญหา และสิทธิในการเปิด ticket เพื่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ช่วยแก้ปัญหาทาง email หรือ remote เข้ามาดูระบบ ให้ทางลูกค้า โดยที่เจ้าของผลิตภัณฑ์อยู่ที่อิสราเอล แต่ค่าสินค้าหรือบริการจะโอนเงินให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายในสิงคโปร์ ทั้งนี้ ตาม DTA ระหว่างไทยและสิงคโปร์ ฉบับแก้ไขที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ได้แยกประเภทค่าสิทธิออกเป็น 3 แบบ ทางบริษัทฯ หากซื้อบริการตัวนี้จากสิงคโปร์ จะถือเป็นค่าสิทธิ ตามข้อใด ระหว่าง 5% ค่าสิทธิจากการใช้งานวรรณกรรม, หรือ 10% ค่าสิทธิอื่นๆ การตีความค่าสิทธิ จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ ว่า ค่าสิทธิ นั้น ควรอยู่ในส่วนไหนบ้าง
ความหมายของค่าสิทธิ
ประมวลรัษฎากรมิได้ให้ความหมายของ ค่าสิทธิไว้ แต่ “ค่าสิทธิ” ตามที่ปรากฏในอนุสัญญาภาษีซ้อนโดยทั่วไป หมายถึงค่าตอบ แทนในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 3 กรณีดังต่อไปนี้
1. ค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิ ในการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ (รวมทั้งฟิล์มภาพยนตร์ หรือเทปสำหรับการเผยแพร่ทางวิทยุหรือโทรทัศน์ด้วย) สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่น
ค่าสิทธิในกรณีนี้คือค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา1 ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement) อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยทำไว้กับประเทศต่างๆ จะถือว่าค่าตอบแทนในกรณีนี้เป็นค่าสิทธิ
2. ค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์
ค่าตอบแทนในกรณีนี้ในความเป็นจริงเป็นค่าเช่าอุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือวิทยาศาสตร์ เช่น ค่าเช่าเครื่องจักร ตามปกติถือเป็นเงินได้ประเภทกำไรจากธุรกิจ (Business Profit) ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ฉะนั้น หากผู้ให้เช่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยและมิได้มีสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) ในประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยก็เก็บภาษีไม่ได้ เงินค่าเช่าดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษี ผู้จ่ายค่าเช่าจึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
อย่างไรก็ดี อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศส่วนใหญ่ อาทิ ปากีสถาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แคนาดา ออสเตรเลีย สวีเดน เวียดนาม ฮังการี ศรีลังกา สาธารณรัฐ-เชค สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล แอฟริกาใต้ โรมาเนีย สหรัฐอเมริกา ลาว ลักเซมเบอร์ก เนปาล สเปน สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไซปรัส บัลแกเรีย อาร์เมเนีย บาห์เรน โอมาน สโลเวเนีย ยูเครน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ถือว่าค่าเช่า ดังกล่าวเป็นค่าสิทธิ ไม่ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ฉะนั้น แม้ผู้ให้เช่าจะไม่มีสถานประกอบการอยู่ ในประเทศไทย ประเทศไทยก็เก็บภาษีได้ ผู้จ่ายค่าเช่าจึงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่จะได้รับการลดอัตราภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อนดังกล่าวมาแล้ว
อนึ่ง ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นไม่ถือว่า ค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือวิทยาศาสตร์เป็นค่าสิทธิ ขณะเดียวกันก็ไม่ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ เพราะข้อ 7 วรรค 8 ของอนุสัญญาฯ ไม่ให้ถือค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นกำไรจากธุรกิจ แต่ให้ถือเป็นเงินได้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับเงินได้ในข้อก่อนๆ ของอนุสัญญาฯ ประเทศแหล่งเงินได้จึงมีสิทธิเก็บภาษีได้ตามข้อ 20 วรรค 3 ของอนุสัญญาฯ
ตัวอย่าง
บริษัท ก. ซึ่งอยู่ในประเทศไทยทำสัญญาเช่าเครื่องจักรจากบริษัท J ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแหล่งเงินได้ย่อมมีสิทธิเก็บภาษีได้ บริษัท ก. จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 15 ของค่าเช่าที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70
3. ค่าตอบแทนเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรืออาจเรียกว่า “ค่าวิทยาการ (Know-how)” ก็ได้
ค่าวิทยาการ หมายถึง ค่าตอบแทนที่จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศเกี่ยวกับความรู้ ความชำนาญ หรือประสบการณ์พิเศษทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ผู้ให้วิทยาการไม่ต้องลง มือดำเนินการใดๆ และไม่ต้องรับประกันว่าความรู้ความชำนาญหรือประสบการณ์พิเศษของตนจะให้ผลสำเร็จตามความประสงค์ของผู้จ่ายเงิน
ที่มา: ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม และดุลยลักษณ์ ตราชูธรรม
http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.php?aID=41
ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย – สิงคโปร์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับการจ่ยค่าสิทธิไว้ดังนี้
1. ค่าสิทธิที่เกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง (ไทย) และจ่ายให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง (สิงคโปร์) อาจเก็บได้ในอีกรัฐหนึ่งนั้น (สิงคโปร์)
2. อย่างไรก็ตาม ค่าสิทธิเช่นว่านั้น อาจเก็บได้ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งค่าสิทธินั้นเกิดขึ้น (ไทย) และเป็นไปตามกฎหมายของรัฐนั้น (ไทย) แต่ถ้าเจ้าของผลประโยชน์ในค่าสิทธินั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ภาษีที่เรียนเก้บจะต้องไม่เกิน
(ก) ร้อยละ 5 ของจำนวนค่าสิทธิทั้งสิ้น ถ้าค่าสิทธินั้น จ่ายเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้ หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งฟิล์มภาพยนตร์ หรือฟิล์ม หรือเทป ที่ใช้สำหรับการการกระจายเสียงทางวิทยุหรือโทรทัศน์
(ข) ร้อยละ 8 เพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง แผนผัง สูตรลับ หรือกรรมวิธีลับใด ๆ หรือเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางพาณิชย์กรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับ ประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์
(ค) ร้อยละ 10 ของจำนวนค่าสิทธิอื่นๆ
3. คำว่า “ค่าสิทธิ” ที่ใช้ในข้อนี้ หมายถึง การจ่ายไม่ว่าชนิดใดๆ ที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งฟิล์มภาพยนตร์ หรือฟิล์มหรือเทป ที่ใช้สำหรับการกระจายเสียงทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง แผนผัง สูตรลับหรือกรรมวิธีลับใดๆ หรือเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม ทางพาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม ทางพาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์
กรณีบริษัทฯ ขายอุปกรณ์ที่ซื้อจากบริษัทตัวแทนในสิงคโปร์ ให้ลูกค้าในไทย โดยรวมรับประกันการใช้งานพร้อม technical support (remote, telephone, email) และฟรีค่าซ่อมแซม หากอยู่ในรับประกัน เมื่อสิ้นสุดรับประกัน ทางบริษัทฯ ได้เสนอขายการต่อประกัน (Hardware Maintenance and support) ทั้งนี้ ค่าบริการด้งกล่าว จะรวมถึงสิทธิในการ upgrade firmware หรือ patch update หากซอฟท์แวร์ ที่ใช้ในอุปกรณ์มีปัญหา และสิทธิในการเปิด ticket เพื่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ช่วยแก้ปัญหาทาง email หรือ remote เข้ามาดูระบบ ให้ทางลูกค้า โดยที่เจ้าของผลิตภัณฑ์อยู่ที่อิสราเอล แต่ค่าสินค้าหรือบริการจะโอนเงินให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายในสิงคโปร์ นั้น การจ่ายค่าบริการเกี่ยวกับซอฟท์แวร์ถือเป็นการจ่ายค่าค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ซึ่งลิขสิทธิ์ใน “งานวรรณกรรม” (Literature) ซึ่งตาม DTA ระหว่างไทยและสิงคโปร์ ฉบับแก้ไขที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ข้อ 12 วรรคสอง (ก) กำหนดให้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนค่าสิทธิทั้งสิ้น