ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน

บทความวันที่ 18 มี.ค. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 9304 ครั้ง

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน 

 

ได้รวบรวมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคำว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน" ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งมีปรากฎในหลายที่ ดังนี้

1. ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

    "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน " หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันในลักษณะดังต่อไปนี้

    (1) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่ง เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่ง

    (2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด

    (3) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด หรือ

    (4) บุคคลเกินกว่ากึ่งจำนวนกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีอำนาจจัดการในนิติบุคคลหนึ่ง เป็นกรรมการหรือเป็นผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีอำนาจจัดการในอีกนิติบุคคลหนึ่ง

    คำว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน" ในที่นี้ใช้กับกรณีดังต่อไปนี้  

    1.1 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 284) พ.ศ. 2538 สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็น (1) กำไรสุทธิที่ได้จากกิจการสถานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน และ (2) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการตาม (1) ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง จะต้องมิได้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการสถานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน

    1.2 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

    1.3 ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 516) พ.ศ. 2554 ดังนี้

          "มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับการโอนกิจการที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

                 “บริษัทในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และให้หมายความรวมถึงบริษัทผู้โอนกิจการถือหุ้นในบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการอีกทอดหนึ่งต่อเนื่องกันโดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น ทั้งนี้ ความเป็นบริษัทในเครือเดียวกันจะต้องเป็นอยู่ต่อไปไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน

 

2. ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

    “(10) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ เว้นแต่บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้

         (ก) บริษัทจดทะเบียน

         (ข) บริษัทจำกัดนอกจาก (ก) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

         ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียนมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวโดยถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหุ้นนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 65 ตรี (2) ไม่ให้ถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรตามความในวรรคสอง”

    กรณีตามมาตรา 65 ทวิ (10)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าว แม้จะมิได้ใช้คำว่า “บริษัทในเครือเดียวกัน” แต่ตามนัยถือเป็นบริษัทโฮลดิ้งคัมปะนี ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า “บริษัทในเครือเดียวกัน”

 

3. ตามวรรคสองของมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน” เพื่อป้องปรามการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน ดังนี้

    “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะ ดังต่อไปนี้

          (1) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด

          (2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด หรือ

          (3) นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะ ที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่งตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง” 

4. ตามมาตรา 3 (32) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ดังนี้

    “(32) กิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมิได้ประกอบกิจการตามมาตรา 91/2 (1)(2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับ เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

          (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง

               “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจำนวนตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม โดยให้นับระยะเวลาของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมผู้โอนกิจการทั้งหมดรวมด้วย

          (ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินหรือซื้อตั๋วเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติ

          ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป”

 

5. ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 สำหรับ “สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค(Regional Operating Headquarter: ROH) หรือมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558  สำหรับ “สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ” (International Headquarter: IHQ) และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561 สำหรับ “ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ” (International Business Center: IBC)  ได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “วิสาหกิจในเครือ” ดังนี้

    “วิสาหกิจในเครือ”  หมายความว่า  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ในลักษณะดังต่อไปนี้

          (1)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งถือหุ้นในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด

          (2)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด

          (3)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (1) ถือ หุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด

          (4)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจควบคุมกิจการหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

          (5)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ซึ่งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคมีอำนาจควบคุมกิจการหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงาน

          (6)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (4) มีอำนาจควบคุมกิจการหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงาน”

    5.1 ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarter: ROH) ดังนี้

          มาตรา 8 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10.0 ของกำไรสุทธิ ให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้

                 (1)  รายได้จากการให้บริการของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคแก่วิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

                 (2)  ดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อ

                 “(3)  ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาที่กระทำขึ้นในประเทศไทย โดยสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคได้วิจัยและพัฒนาเองหรือผู้อื่นวิจัยและพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562”

(ความใน (3) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 685) พ.ศ.2562 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)

          มาตรา 9 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ (นิติบุคคล) ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ”

    5.2 ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่ “สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ” (International Headquarter: IHQ) ดังนี้  

          “มาตรา 7 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายได้ที่ได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้

                 (1) รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุนหรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

                 (2) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาที่กระทำในประเทศไทย โดยสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้วิจัยและพัฒนาเองหรือจ้างผู้อื่นวิจัยและพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป”

(ความในวรรคหนึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 686) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)

                 รายได้ที่จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่งเฉพาะที่มีจำนวนรวมกันไม่เกินกว่ารายได้ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 8 (1) และ (2)

          มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ (นิติบุคคล) ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายได้ที่ได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้

                 (1) รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

                 (2) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาที่กระทำขึ้นในประเทศไทย โดยสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้วิจัยและพัฒนาเองหรือจ้างผู้อื่นวิจัยและพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

                 (3) เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

                 (4) รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

                 (5) รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะการผ่านแดนหรือการถ่ายลำตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ได้รับจากหรือในต่างประเทศ”

(ความในมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 686) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)

    5.3 ตามมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ “ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ” (International Business Center: IBC) ดังนี้  

          “มาตรา 7 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้

                 (1) ร้อยละแปดของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้ของกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศที่มีรายจ่ายของกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศที่ได้จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าหกสิบล้านบาท ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

                 (2) ร้อยละห้าของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้ของกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศที่มีรายจ่ายของกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศที่ได้จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าสามร้อยล้านบาท ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

                 (3) ร้อยละสามของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้ของกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศที่มีรายจ่ายของกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศที่ได้จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าหกร้อยล้านบาท ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

          มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ (นิติบุคคล) ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ สำหรับรายได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ

          มาตรา 9 ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ สำหรับรายรับจากการให้บริการด้านการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ”