บันทึก เรื่อง ทบทวนข้อหารือกรณีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า
บทความวันที่ 11 มี.ค. 2563 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 2245 ครั้ง
บทความวันที่ 11 มี.ค. 2563 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 2245 ครั้ง
ขอนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นบันทึก เรื่อง ทบทวนข้อหารือกรณีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งขัดแยังกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 73/2541 มาเผยแพร่
ความเห็นฉบับย่อ
บันทึก เรื่อง
ทบทวนข้อหารือกรณีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า - คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 3 คณะที่ 5 และคณะที่ 12) � เรื่องเสร็จที่ 11/2547
มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง ประมวลรัษฎากร
มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยคำนวณจากฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ซึ่งฐานภาษี ได้แก่
มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ คือ เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใดๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการจำหน่าย จ่าย โอนซึ่งทรัพย์สิน หรือการให้บริการของตนเอง
ข้อ 4 ของข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวง ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2535 กำหนดความหมาย �หลักประกันการใช้ไฟฟ้า� ไว้ว่า เป็นหลักประกันที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้นำมาวางเพื่อเป็นประกันการชำระค่าไฟฟ้า เบี้ยปรับ และหรือหนี้อื่นอันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งดอกเบี้ยอันเกิดขึ้นจากหนี้ดังกล่าวด้วย เมื่อเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไม่ได้จ่ายเพื่อชำระค่ากระแสไฟฟ้า หรือตอบแทนการได้รับบริการการใช้ไฟฟ้า เพราะเป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้านำมาวางและเมื่อมีการเลิกสัญญา หากผู้ใช้ไฟฟ้ามิได้ค้างชำระค่าใช้ไฟฟ้าก็ได้รับคืนเต็มจำนวน ดังนั้น
เงินประกันการใช้ไฟฟ้าจึงไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายหรือการให้บริการ ที่จะนำมาใช้เป็นฐานภาษีตามนัยมาตรา 79 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
เพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
เรื่องเสร็จที่ ๑๑/๒๕๔๗
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง ทบทวนข้อหารือกรณีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า
กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กค ๐๘๑๑/๑๗๕๒๒ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความว่า กระทรวงการคลังขอให้สำนักงานฯ พิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) เกี่ยวกับกรณีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เคยมีหนังสือ ที่ มท ๕๒๐๗/๑๑๗/๑๒ ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ขอให้สำนักงานฯ ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายว่า เงินประกันการใช้ไฟฟ้าถือว่าเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ กฟน. ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายกระแสไฟฟ้าหรือการให้บริการการใช้ไฟฟ้าหรือไม่ และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีคำวินิจฉัยว่า เงินประกันการใช้ไฟฟ้าเป็นเงินที่ กฟน. ได้รับมาโดยมีข้อผูกพันที่จะต้องคืนในภายหลัง จึงมิใช่รายรับที่อยู่ในข่ายที่จะนำมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อคิดภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยกระทรวงการคลังเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๑๒๙/๒๕๔๐ (ระหว่างบริษัทชินวัตร เพจจิ้ง จำกัด โจทก์ และกรมสรรพากร จำเลย) และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินประกัน แต่ศาลฎีกาเห็นว่า เงินค่าประกันการใช้บริการโทรศัพท์ติดตามตัวที่ผู้ขอรับบริการจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการนั้น เป็นส่วนหนึ่งของค่าบริการ (เพราะหากผู้ใช้บริการไม่ชำระเงินค่าประกัน บริษัทผู้ให้บริการก็จะไม่ให้บริการ) ดังนั้น จึงต้องนำเงินจำนวนนั้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๗๙ แห่งประมวลรัษฎากร
กระทรวงการคลังเห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกา และหากกรมสรรพากรจำเป็นต้องถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการโดยรวม คือ (๑) เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเอกชนเพราะกรมสรรพากรได้ถือปฏิบัติจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินประกันไม่ว่าจะเกิดจากการขายสินค้าหรือให้บริการ โดยไม่มีการแบ่งแยกผู้ประกอบการมาก่อน และ (๒) เป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการอื่นๆ ยกเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ยอมเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระไว้แล้วด้วย จึงขอให้พิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้เป็นการขอทบทวนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า[๑] และเป็นกรณีที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะในหลายด้านและต้องการความรอบคอบในการพิจารณา จึงขอให้กรรมการกฤษฎีกาสามคณะ ได้แก่ กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๓ คณะที่ ๕ และคณะที่ ๑๒ มาประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ตามนัยข้อ ๑๐ วรรคสาม[๒]แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ และข้อ ๑๒ วรรคหนึ่ง[๓] แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๓ คณะที่ ๕ และคณะที่ ๑๒) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยได้รับฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร) และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (การไฟฟ้านครหลวง) แล้ว มีความเห็นดังนี้
ตามบทบัญญัติมาตรา ๘๒/๔ วรรคหนึ่ง[๔] แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยคำนวณจากฐานภาษีและอัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมาตรา ๗๙[๕] แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการไว้ว่า ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ และเมื่อพิจารณาตามมาตรา ๗๙ วรรคสอง[๖] ประกอบกับคำนิยามของคำว่า “ขาย” ตามมาตรา ๗๗/๑ (๘)[๗] คำว่า “สินค้า” ตามมาตรา ๗๗/๑ (๙)[๘] และคำว่า
“บริการ” ตามมาตรา ๗๗/๑ (๑๐)[๙] แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว จะเห็นได้ว่า มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใดๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการจำหน่าย จ่าย โอนซึ่งทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใดๆ และรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ หรือการกระทำอื่นใดตามที่กำหนดไว้ตาม (ก)-(ช) ของ (๘) ของมาตรา ๗๗/๑ แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนมูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใดๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า ซึ่งรวมถึงการให้บริการของตนเองไม่ว่าประการใดๆ แต่ไม่รวมถึงกรณีตาม (ก)-(ค) ของ (๑๐) ของมาตรา ๗๗/๑ แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับ “หลักประกันการใช้ไฟฟ้า” นั้น ตามข้อ ๔[๑๐] ของข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวง ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดความหมายไว้ว่า เป็นหลักประกันที่การไฟฟ้านครหลวงให้นำมาวางเพื่อเป็นประกันการชำระค่าไฟฟ้า เบี้ยปรับ และหรือหนี้อื่นอันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งดอกเบี้ยอันเกิดขึ้นจากหนี้ดังกล่าวด้วย ซึ่งเห็นได้ว่า เงินประกันการใช้ไฟฟ้ามิใช่เงินที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า เนื่องจากมิใช่เป็นเงินที่จ่ายเพื่อชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ และเงินประกันนี้ก็ไม่เป็นเงินที่ กฟน. ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการการใช้ไฟฟ้าด้วย เพราะแม้ว่าก่อนที่จะมีการขายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า กฟน. จะต้องดำเนินการบางอย่างให้แก่ผู้ขอใช้ไฟฟ้าอันเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อให้การขายกระแสไฟฟ้าสำเร็จขึ้นได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวในบางกรณี เช่น การเดินสายไฟฟ้า อาจถือได้ว่าเป็นการให้บริการก็ตาม แต่การวางเงินประกันนั้นก็ไม่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการให้บริการ ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสาระสำคัญของค่าบริการแล้วจะเห็นได้ว่า ค่าบริการจะต้องเป็นเงินหรือสิ่งอื่นที่ผู้ใช้บริการจ่ายให้แก่ผู้ให้บริการเพื่อตอบแทนการได้รับบริการ ซึ่งมาตรา ๗๗/๑ (๑๐) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่า แต่เงินประกันนี้มิใช่เป็นประโยชน์อันมีมูลค่า ที่ กฟน. ได้รับ เพราะเป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้านำมาวางและเมื่อมีการเลิกสัญญา หากผู้ใช้ไฟฟ้ามิได้ค้างชำระค่าใช้ไฟฟ้า กฟน. ต้องคืนให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าเต็มจำนวน เงินประกันการใช้ไฟฟ้าจึงไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายหรือการให้บริการ และมิใช่ฐานภาษีตามนัยมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๓ คณะที่ ๕ และคณะที่ ๑๒) โดยมติเสียงข้างมาก (คะแนนเสียง ๑๓ เสียงต่อ ๒ เสียง งดออกเสียง ๑ เสียง) จึงมีความเห็นตามความเห็นเดิมของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ว่า กฟน. ไม่ต้องนำเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่ได้รับมารวมเป็นฐานภาษีเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ลงชื่อ
พรทิพย์ จาละ
(นางสาวพรทิพย์ จาละ)
รองเลขาธิการฯ
รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
มกราคม ๒๕๔๗
ส่งพร้อมหนังสือ ด่วนมาก ที่ นร ๐๙๐๑/๐๐๒๓ ลงวันที่ ๘ มกราคม
๒๕๔๗ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
[๑] บันทึก เรื่อง การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (เรื่องเสร็จที่ ๕๓๙/๒๕๔๒)
[๒] ข้อ ๑๐
ฯลฯ
ฯลฯ
กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ขอความเห็นอาจขอให้ทบทวนปัญหาที่กรรมการกฤษฎีกาคณะใดคณะหนึ่งได้วินิจฉัยไปแล้วอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ในกรณีนี้ให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการกฤษฎีกาสองหรือสามคณะเป็นการประชุมพิเศษ หรือจัดให้มีการประชุมใหญ่กรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ตามที่เห็นสมควร
[๓] ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะในหลายด้านหรือต้องการความรอบคอบในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจขอให้กรรมการกฤษฎีกาสองหรือสามคณะมาประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเป็นกรณีพิเศษก็ได้
ฯลฯ ฯลฯ
[๔] มาตรา ๘๒/๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๓/๕ มาตรา ๘๓/๖ และมาตรา ๘๓/๗ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยคำนวณจากฐานภาษีตามส่วน ๓ และอัตราภาษีตามส่วน ๔
ฯลฯ ฯลฯ
[๕] มาตรา ๗๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๙/๑ ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) ถ้ามี ด้วย
มูลค่าของฐานภาษีให้หมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใดๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
ฯลฯ ฯลฯ
[๖] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๕, ข้างต้น
[๗] มาตรา ๗๗/๑ ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
ฯลฯ ฯลฯ
(๘) “ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง
(ก) สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้ว หรือสัญญาจะขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
(ข) ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย
(ค) ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
(ง) นำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ เว้นแต่การนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(จ) มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา ๘๗ (๓) หรือมาตรา ๘๗ วรรคสอง
(ฉ) มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากันหรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๒/๓
(ช) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๙) “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใดๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า
(๑๐)“บริการ” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง
(ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์
(ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
ฯลฯ ฯลฯ
[๘] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๗, ข้างต้น
[๙] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๗, ข้างต้น
[๑๐] ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
ฯลฯ ฯลฯ
”หลักประกันการใช้ไฟฟ้า” หมายความว่า หลักประกันที่การไฟฟ้านครหลวงให้นำมาวางเพื่อเป็นประกันการชำระค่าไฟฟ้า เบี้ยปรับ และหรือหนี้อื่นอันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ดังกล่าวด้วย
ฯลฯ ฯลฯ