การกระทบยอดรายได้ ภ.ง.ด.50 กับยอดขาย ตาม ภ.พ.30
บทความวันที่ 22 ธ.ค. 2562 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 43353 ครั้ง
บทความวันที่ 22 ธ.ค. 2562 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 43353 ครั้ง
การกระทบยอดรายได้ ภ.ง.ด.50 กับยอดขาย ตาม ภ.พ.30
แนวคิดของการกระทบยอดรายได้ ภ.ง.ด.50 กับยอดขาย ตาม ภ.พ.30 ก็เหมือนกับการกระทบยอดบัญชีเงินฝากธนาคารนั่นเอง เพียงแต่ต้องพิจารณาจากทั้งสองด้านประกอบกัน กล่าวโดยสรุปความแตกต่างของยอดรายได้ ภ.ง.ด.50 กับยอดขาย ตาม ภ.พ.30 อาจเกิดขึ้นเนื่องจาก
1.
กิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งบางกิจกรรมให้รับรู้รายได้ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล
แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องรับรู้ หรือในทางตรงกันข้ามบางกิจกรรมไม่ต้องรับรู้รายได้ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล
แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มต้องรับรู้
1.1 กิจกรรมที่ต้องรับรู้รายได้ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล
แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องรับรู้ อาทิ
(1) รายได้ดอกเบี้ย
(2)
กำไรจากการขายหลักทรัพย์
(3)
กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
(4)
รายได้ที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอื่นๆ เช่น รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์
(5)
รายได้ที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหลาย (Out of VAT Scope) เช่น
(ก)
รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ จากการส่งเสริมการขาย (ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.
118/2545 ประกอบ) เช่น ค่าแรกเข้า (Entrance Fee) เงินอุดหนุนช่วยเหลือ
เงินให้เปล่า เงินช่วยค่าใช้จ่าย ส่วนลดพิเศษ
(ข)
ค่าปรับเนื่องจากผิดสัญญา
(ค)
ค่าสินไหมทดแทน
(ง)
เงินบริจาค หรือจากการให้โดยเสน่หา
(จ)
รายได้จากการขายทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉ)
รายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ (Out - Out)
(6)
รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(7)
รายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการที่รับรู้รายได้ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มจากการรับล่วงหน้าแล้ว
(8)
รายได้ค่าบริการค้างรับ
1.2
กิจกรรมที่ไม่ต้องรับรู้รายได้ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มต้องรับรู้
อาทิ
(1)
รายได้รับล่วงหน้าจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ
(2)
รายได้ค่าบริการค้างรับที่ได้รับชำระหนี้ในภายหลัง
(3)
เงินมัดจำค่าบริการ
(4)
การจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินหรือสินค้า ที่เข้าลักษณะเป็นการขายในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่ถือเป็นรายจ่ายในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น
(ก)
แจกทองให้พนักงาน หรือลูกค้า
(ข)
การแจกรางวัลจากการประกวด แข่งขัน ชิงโชค
(ค)
การแถมสินค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) กล่าวคือ เป็นการแถมต่างหาก
หรือแถมตามเงื่อนไข หรือมูลค่าของของแถมเกินมูลค่าสินค้าที่ขายหรือบริการที่ให้
(ง)
การให้ยูนิฟอร์มพนักงานเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
(5)
การแถมบริการ
2.
ความแตกต่างเนื่องจากจำนวนรายได้ที่ต้องรับรู้
2.1
รายได้จากการขายทรัพย์สิน ซึ่งในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล กำหนดให้รับรู้เฉพาะส่วนที่เป็นกำไรหรือขาดทุนเท่านั้น
แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มต้องรับรู้จากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ
2.2
การส่งออกสินค้าในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล กำหนดให้รับรู้ตามเงื่อนไข Incoterm ที่แตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริง เช่น Exworks FOB/CIF DDP แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้รับรู้เฉพาะราคา FOB ตามมาตรา 79/1 (1) แหงประมวลรัษฎากร เท่านั้น
2.3
กรณีรายได้จากให้บริการ ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล
กำหนดให้รับรู้ตามจำนวนที่ตกลงกัน แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม
กำหนดให้รับรู้เฉพาะมูลค่าที่ได้รับชำระราคาเท่านั้น
3.
ความแตกต่างเนื่องจากกำหนดเวลาในการรับรู้
3.1 การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศโดยเรือเดินทะเล
ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลกำหนดให้รับรู้ตาม Incoterm แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดให้รับรู้ตามมาตรา
78 (4) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ
เมื่อมีการออกใบขนสินค้าขาออก (Status 0209)
3.2 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
เนื่องจากจุดที่เกิดความรับผิดในทางภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างไปจากจุดที่เกิดรายได้ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล
3.3 รายได้จากการให้บริการเป็นเงินเชื่อ ซึ่งในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล กำหนดให้รับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ กล่าวคือ เมื่อการให้บริการเสร็จสิ้น แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถเลือกรับรู้ตามเกณฑ์รับชำระ (เกณฑ์เงินสด) ก็ได้
การกระทบยอดรายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ให้เป็นไปตามรายได้ตามแบบ ภ.พ.30
1. ให้นำรายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 มาตั้งต้น
2. นำรายการรายได้ที่ทำให้รับรู้รายได้ต่ำกว่ารายได้ตามแบบ ภ.พ.30 มาบวกเพิ่ม และ
3. นำรายการรายได้ที่ทำให้รับรู้รายได้สูงกว่ารายได้ตามแบบ ภ.พ.30 มาหักออก