ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ตอนที่ 2

บทความวันที่ 25 ส.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3886 ครั้ง

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ตอนที่ 2

 

ประมวลรัษฎากรหากพิจารณาจากรูปลักษณ์ที่เป็นหนังสือกฎหมายภาษีอากรเล่มหนึ่ง ก็อาจเทียบได้กับขนมชั้นห่อใบตองอันเป็น "ภูมิปัญญาไทย" ซึ่งน่าทึ่งมากที่ใครคนใดคนหนึ่งจะบัญญัติหรือเขียนกฎหมายภาษีอากรให้เข้าลักษณะเป็นกฎหมายภาษีอากรทีดีอันประกอบด้วย

(1) เป็นธรรม

(2) แน่นอน

(3) สะดวก

(4) ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษ๊อากรของผู้ต้องเสียภาษีอากร

(5) อำนวยรายได้ให้แก่รัฐ

(6) เป็นกลางทางเศรษฐกิจ และ

(7) มีความยืดหยุ่นตามแต่สถานการณ์

ขนมชั้นห่อใบตอง เทียบกับประมวลรัษฎากรได้อย่างไร

อาจเปรียบหน้าปก คำนำ สารบัญ ซึ่งไม่ใช้ตัวเนื้อแท้ของกฎหมายตามประมวลรัษฎากร ก็จะเทียบได้กับ ใบตองที่ห่อหุ้มขนมชั้นไว้ที่ด้านใน"  และอาจเปรียบเทียบขนมชั้น กับเนื้อหาประมวลรัษฎากรที่จำแนกเป็นชั้นๆ ทั้งในส่วนของกฎหมายแม่บท หรือบทบัญญัติ และกฎหมายลูก หรืออนุบัญญัติ ที่มีลำคับศักดิ์ของกฎหมายต่างกันในแนวดิ่ง ก็สามารถเทียบได้กับขนมชั้นที่แยกได้เป็นชั้นๆ ฉันใดก็ฉันนั้น กล่าวคือ

ประมวลรัษฎากรเป็นส่วนต่อท้ายของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ก็จะได้ขนมชั้นมา 2 ชั้นแล้ว ในส่วนของชั้นแรก อันเป็นพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 เนื้อขนมชั้นอาจจะบางเพราะใส่แป้งเข้าไปน้อย มีเพียง 6 มาตรา แต่เป็นสิ่งที่จะทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ของการบัญญัติประมวลรัษฎากร ประวัติศาสตร์การจัดเก็บภาษีก่อนใช้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร รูปแบบของประมวลทุกฉบับ และบทเฉพาะกาล ที่สะท้อนว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดก็ตามที่ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้ระลึกไว้เสมอว่าต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลกระทบจาการยกเลิกกฎหมายเก่าและใช้กฎหมายใหม่  

สำหรับประมวลรัษฎากร ก็แยกเป็นชั้นๆ ได้เป็น 2 ลักษณะในปัจจุบัน คือ ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น ตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 4 ทศ รวม 26 มาตรา และลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 129 และบัญขีอัตราอากรแสตมป์ รวม 284 มาตรา และภายในลักษณะ 2 เองก็ยังแยกออกเป็นหมวดต่างๆ ตั้งแต่หมวด 1 ถึงหมวด 6 รวม 7 หมวด (เพราะมีการเพิ่มหมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตั้งแต่มาตรา 13 ทวิ ถึงมาตรา 13 อัฏฐ รวม 7 มาตรา) อีกด้วย และภายในแต่ละหมวดต่างๆ ของลักษณะ 2 ต่อไปนี้ ก็ยังแยกออกเป็นส่วนๆ คือ

หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ตั้งแต่มาตรา 14 ถึงมาตรา 37 ทวิแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน

หมวด 3 ภาษีเงินได้่ ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 76 ทวิ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้ แบ่งย่อยออกไปอีก 3 ส่วน

หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่มาตรา 77 ถึงมาตรา 90/5 แบ่งย่อยออกไปอีก 14 ส่วน แต่ละส่วนขึ้นเลขมาตราใหม่ และ

หมวด 6 อากรแสตมป์ ตั้งแต่มาตรา 103 ถึงมาตรา 129 และบัญชีอัตราอากรแสดมป์ แบ่งย่อยออกไปอีก 3 ส่วน

 

คร้้นพอถึงอนุบัญญัติ หรือกฎหมายลูก ก็ยังมีหลายระดับประกอบด้วย

1. พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร

2. กฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร

3. ประกาศกระทรวงการคลัง และระเบียบกระทรวงการคลัง

4. คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร (ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน)

5. คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. .../เลข พ.ศ.

6. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ว่าด้วยกรณีและประเภทภาษีอากรต่างๆ ตามประมวลรัษฎากร

ก็จะได้ขนมชั้นห่อใบตองที่มีเนื้อหาน่าลองลิ้มชิมรสชาดว่าจะหวานหอม นุ่มนวล และได้กลิ่นอายของภูมิปัญญาไทยไปบ้าง

อนึ่ง ในเนื้อขนมชั้นดังกล่าว อาจมีผงฝุ่นที่แม้ไม่ใช่เนื้อขนมชั้นแต่หากรับประทานเข้าไปก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยได้ อาทิ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../เลข พ.ศ. ย่อคำพิพากษาฎีกา หรือคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร ความเห็นของผู้รวบรวม ไว้ด้วย