รับจ้างทำบัญชี: วิชาชีพอิสระ
บทความวันที่ 2 เม.ย. 2562 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 12024 ครั้ง
บทความวันที่ 2 เม.ย. 2562 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 12024 ครั้ง
รับจ้างทำบัญชี: วิชาชีพอิสระ
1. เงินได้จากการเป็นลูกจ้างประจำมีหน้าที่งานคือ ทำบัญชี ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หากทำบัญชีให้แก่บริษัทจำกัด ต้องมีวุฒิปริญญาตรี แต่หากทำบัญชีให้แก่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และทรัพย์สินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท จะใช้นักบัญชีวุฒิ ปวส. หรืออนุปริญญาทางการบัญชีแทนก็ได้
การมีเงินได้จากการเป็นลูกจ้างประจำเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร “การจ้างแรงงาน” ซึ่งประกอบด้วยคู่สัญญาสองฝ่ายคือ นายจ้าง และ ลูกจ้าง ตามสัญญาดังกล่าว นายจ้างตกลงว่าจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามระยะเวลาที่จ้าง (โดยไม่คำนึงว่างานที่มอบหมายให้ลูกจ้างทำนั้น จะได้ผลเป็นประการใด) และลูกจ้างตกลงว่าจะทำงานให้แก่นายจ้างตลอดระยะเวลาที่จ้าง และปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง (ลูกจ้างไม่มีอิสระในการทำงาน) ซึ่งอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามลักษณะแห่งการจ้าง และการจ่ายค่าจ้าง เช่น
- เงินเดือน กรณีตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน
- ค่าจ้าง กรณีตกลงจ่ายค้าจ้างเป็นรายอื่นใด เช่น รายวัน รายสัปดาห์
นอกจากนี้ นายจ้างอาจจ่ายเงินได้ในส่วนที่เป็นประโยชน์เพิ่ม (fringe benefit) ให้แก่ลูกจ้างในรูปของ เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
2. กรณีมีอาชีพรับทำบัญชีให้แก่บริษัท โดยที่มิใช่เป็นลูกจ้างประจำ นั้น เบื้องต้นไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างแน่นอน แต่จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด ระหว่างเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) – เงินได้จากการรับทำงานให้ และ (6) – เงินได้จากวิชาชีพอิสระ (การบัญชี) แห่งประมวลรัษฎากร
เรื่องนี้ กรมสรรพากรได้เคยตอบข้อหารือหลายต่อหลายครั้งว่า การรับทำบัญชีเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
แต่อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ได้กำหนดนิยามคำว่า “วิชาชีพบัญชี” และคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
“วิชาชีพบัญชี” หมายความว่า วิชาชีพในด้านการทำบัญชี ด้านการสอบบัญชี ด้านการบัญชีบริหาร ด้านการวางระบบบัญชี ด้านการบัญชีภาษีอากร ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชี และบริการเกี่ยวกับการบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
“ผู้ทำบัญชี” หมายความว่า ผู้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543
ดังนั้น วิชาชีพ “ด้านการทำบัญชี” จึงมีความชัดเจนว่าเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างแท้จริง
อนึ่ง คำว่า “วิชาชีพ” หรือ Profession หมายถึง งานที่ตนได้ปฏิญาณว่าจะอุทิศตัวทำไปตลอดชีวิต เป็นงานที่ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนมานาน เป็นงานที่มีขนบธรรมเนียมและจรรยาของหมู่คณะโดยเฉพาะ ได้รับค่าตอบแทนในลักษณะค่าธรรมเนียม (fee) หรือค่ายกครู มิใช่ค่าจ้าง (Wage)
ลักษณะสำคัญของการเป็นวิชาชีพ ได้แก่
1. มีองค์ความรู้เฉพาะของตน ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องเข้ารับการศึกษา ฝึกอบรมให้มีความรู้ในศาสตร์เฉพาะของวิชาชีพนั้นๆ
2. มีความเป็นอิสระในการประกอบวิชาชีพ เป็นการประกอบวิชาชีพที่มีมาตรฐานการปฏิบัติเป็นการเฉพาะสำหรับวิชาชีพนั้นๆ โดยมีองค์ความรู้เป็นพื้นฐาน บุคคลอื่นไม่สามารถจะมาสั่งการให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ได้ นอกจากนี้การปกครองกันเองภายในวิชาชีพเดียวกันยังเป็นอิสระจากการควบคุมของคนนอกวิชาชีพ เช่น ถ้าสมาชิกคนใดกระทำผิด การพิจารณาจะเริ่มจากคณะกรรมการขององค์กรวิชาชีพก่อน
3. มีกฎหมายรองรับการประกอบวิชาชีพ หมายถึง จะต้องมีการขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตประกอบวิชาชีพ ได้แก่ ใบประกอบวิชาชีพ
4. มีจรรยาบรรณ ตราขึ้นเพื่อผู้ประกอบวิชาชีพดำรงตนหรือประพฤติตนอยู่ในความถูกต้อง ดีงามต่อผู้รับบริการ ต่อเพื่อนผู้ร่วมวิชาชีพ ต่อตนเอง และต่อสังคมส่วนรวม
5. มีสำนึกที่จะให้บริการ เมื่อถูกเรียกร้องการบริการจะต้องเต็มใจที่จะให้บริการแก่ผู้มารับบริการได้เสมอ บางครั้งอาจจะต้องสละความสุขส่วนตัว มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพของตน
หลักการของวิชาชีพ
องค์ประกอบความเป็นวิชาชีพ
ศาสตราจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ ได้อธิบายว่า การเป็น “วิชาชีพ”ได้นั้น จะต้องประกอบด้วยลักษณะอย่างน้อย 3 ลักษณะ ด้วยกัน ได้แก่
1. เป็นอาชีพที่เป็นการงานที่มีการอุทิศตนทำไปตลอดชีวิต
2. การงานที่ทำนั้น ต้องได้รับการสั่งสอนอบรมเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในลักษณะอบรมกันหลายปี
3. ผู้ทำงานประเภทนั้น จะต้องมีชุมชน หรือเป็นหมู่คณะ ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีสำนึกใน จรรยาบรรณ เกียรติยศ และศักดิ์ศรี ตลอดจนมีองค์กรและกระบวนการเพื่อสอดส่องพิทักษ์รักษาขนบธรรมเนียม เกียรติศักดิ์ ศักดิ์ศรี นั้นด้วย (http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/)
ดังนั้น นักบัญชีที่รับจ้างทำบัญชีเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนในลักษณะใด เพราะคำว่า "วิชาชีพอิสระ" (Prนfessional) หมายถึง ความเป็นอิสระในการใช้วิชาชีพอันเป็นเนื้อหาสำคัญ หาได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการจ่ายเงินได้แต่อย่างใด