บัญชีชุดเดียว
1. บัญชีชุดเดียว คือ อะไร
บัญชีชุดเดียว เป็นมาตรการของรัฐ และกระทรวงการคลัง รวมทั้งกรมสรรพากร กำหนดขึ้นเพือให้ SMEs ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่รายได้จากการขายสินค้า หรือการให้บริการไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี (รอบระยะเวลาบัญชี) จัดทำบัญชี ตามเอกสารประกอบการลงบัญชีที่ถูกต้องครบถ้วน ในอันที่จะเสียภาษีอากรครบถ้วนตามความเป็นจริง นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจาการที่รัฐบาลมีเป้าประสงค์ที่จะสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วน มิฉะนั้น จะส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการตราพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากรทุกประเภทตามประมวลรัษฎากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้หรือฐานภาษีที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559
และเท่าที่สดับรับฟังมา รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการดังกล่าวเพียงมาตรการเดียวที่จะผลักดันให้มีการจัดทำบัญชีชุดเดียว แต่ยังกำหนดให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในการกากับดูแล ใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้ เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร
อีกทั้งยังกำหนดมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรกำหนดให้นำระบบการชำระเงินทางอีเลกทรอนิกส์ (e-Payment) ระบบใบกำกับภาษีทางอีเลกทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) มาใช้เพื่อให้มีข้อมูลทางการเงินที่จะใช้เป็นฐานในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่งด้วย โดยจะกำหนดให้ใช้การจ่ายเงินผ่านระบบ e-Payment สำหรับจำนวนเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปทุกรายการ
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สถาบันการเงินต้องแจ้งข้อมูลที่เข้าข่ายเป็น ธุรกรรมพิเศษ ประกอบด้วย 1.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี และ 2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดรวมของการรับฝากโอนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรสามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ส่วนสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องรายงานการทำธุรกรรมการเงินพิเศษให้กรมสรรพากรรับทราบ หากไม่ปฏิบัติตามปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท อีกด้วย
ดังจะเห็นได้ว่า การทำบัญชีชุดเดียว และมุ่งมั่นตั้งใจเสียภาษีให้ถูกต้องเท่านั้น จึงจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ต้องถูกเรียนตรวจสอบภาษีอากรโดยเจ้าหน้าที่
2. ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และหน้าที่ของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี กำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวไว้ดังนี้
2.1 ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
ผู้ประกอบธุรกิจตามสถานะภาพดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจของตน มิฉะนั้นอาจต้องรับโทษตามกฎหมาย
ผู้ประกอบธุรกิจ | ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี |
1. บุคคลธรรมดา เฉพาะที่เป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้มีไว้เพื่อจำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ซึ่งสินค้าประเภทเทปเพลงหรือแถบเสียงเพลง วีดีโอเทปหรือแถบวีดีทัศน์ และ แผ่นซีดี | เจ้าของกิจการ |
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียน (เช่นเดียวกับข้อ 1) | หุ้นส่วนผู้จัดการ |
3. ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่ว่าจะมีทุนจดทะเบียน หรือมีทรัพย์สินสุทธิรวม หรือมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนเท่าใด | หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้อำนวยการ |
4. บริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย | กรรมการผู้จัดการ |
5. บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย | กรรมการผู้จัดการ |
6. นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย | ผู้จัดการกิจการในประเทศไทย |
7. กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรที่ประกอบกิจการในประเทศไทย | หุ้นส่วนผู้จัดการหรือบุคคล ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของกิจการร่วมค้า |
8. สำนักงานสาขาหรือสถานประกอบธุรกิจเป็นประจำหลายแห่งแยกจากกัน | ผู้จัดการสาขาหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการธุรกิจในสถานที่นั้น |
1.2 หน้าที่ของผู้มีหน้าทีจัดทำบัญชี
(1) จัดให้มีบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจของตน โดยมีรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด
(2) จัดทำบัญชี และลงรายการในบัญชีจากเอกสารประกอบการลงบัญชี ที่กำหนดในประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยต้องจัดทำบัญชีให้ครบถ้วนและถูกต้อง และมีรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับ (ก) ชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ (ข) ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี (ค) ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี (ง) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี
(3) เริ่มทำบัญชีตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด
(4) จัดให้มีผู้ทำบัญชี ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดในประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
(5) ส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีให้แก่ผู้ทำบัญชี ให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้บัญชีที่จัดทำขึ้น สามารถแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง และตามมาตรฐานบัญชี
(6) ควบคุมดูแลให้ผู้ทำบัญชีจัดทำบัญชีให้ถูกต้องตรงต่อตามความเป็นจริง
(7) ปิดบัญชีตามระยะเวลาที่กำหนด
(8) จัดทำงบการเงินตามรายการย่อ และจัดส่งงบการเงินภายในเวลาที่กำหนด
(9) กรณีต่อไปนี้ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองงบการเงิน (ก) บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (ข) นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ (ค) กิจการร่วมค้า (ง) ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเกินกว่าห้าล้านบาท และหรือมีทรัพย์สินสุทธิรวมเกินกว่าสามสิบล้านบาท และหรือมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีใดรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งเกินกว่าสามสิบล้านบาท
(10) จัดเก็บบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานประกอบการ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันปิดบัญชี
(11) แจ้งต่อสารวัตรใหญ่บัญชี หรือสารวัตรบัญชี กรณีบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีสูญหาย หรือเสียหาย
(12) กรณีนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี เลิกกิจการ ต้องส่งมอบบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี ต่อสารวัตรใหญ่บัญชี หรือสารวัตรบัญชี ภายใน 90 วันนับแต่วันเลิกประกอบธุรกิจ
3. เทคนิคในการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้ถูกต้อง
3.1 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้สรุปประเด็นปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่ผู้ทำบัญชีต้องระมัดระวังไว้ดังนี้
(1) ปัญหาและข้อบกพร่องเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี อาทิ บันทึกบัญชีโดยไม่มีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี หรือเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไม่สมบูรณ์ ไม่น่าเชื่อถือ หรือมีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีแต่ไม่บันทึกบัญชี
(2) ข้อบกพร่องในการบันทึกรายการในบัญชี เช่น บันทึกบัญชีไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง บันทึกรายการในบัญชีไม่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
(3) ข้อบกพร่องเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินและการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน เช่น แสดงรายการในงบดุลและงบกำไรขาดทุนไม่ตรงกับรายละเอียดและหมายเหตุประกอบงบการเงิน
3.2 เมื่อได้นำปัญหาข้อบกพร่องดังกล่าวมาพิเคราะห์ ก็จะได้เทคนิคการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้ถูกต้องดังนี้
(1) มีแนวคิดที่ต้องการเสียภาษีอากรให้ถูกต้อง เพื่อลดทอนปัญหาการเสียภาษีอากรย้อนหลัง ซึ่งต้องเสียเบี้บปรับ เงินเพิ่ม รวมทั้งค่าปรับทางอาญา เพิ่มเติม เนื่องจาก นับแต่ปี 2562 เป็นต้นไป กรมสรรพากรมีมาตรการต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงภาษีอากรได้ดั่งเดิมอีกต่อไป ผู้บริหารต้องกล้าที่จะกล่าวกับพนักงานบัญชีว่า “ลงบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน ทุกบาททุกสตางค์” แล้วได้มีการปฏิบัติตามนโยบายนี้ ก็จักเห็นอานิสงฆ์ทันทีทันใด
(2) เนื่องจากกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การลงรายการในบัญชีทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนด ต้องมีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีทุกรายการที่สามารถแสดงความถูกต้องครบถ้วนของรายการบัญชี ตามความเป็นจริง และเป็นที่เชื่อถือได้
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี หมายถึง บันทึก หนังสือ หรือเอกสารใดๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชี ซึ่งแยกออกเป็น 3 ประเภท คือ
(ก) เอกสารที่จัดทำขึ้นโดยบุคคลภายนอก ซึ่งจะได้รับต้นฉบับมาจากผู้ออก ได้แก่ เอกสารการจ่ายค่าซื้อสินค้า หรือทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาต่างๆ อันเป็นเอกสารหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือสูง
(ข) เอกสารที่จัดทำขึ้นโดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี เพื่อออกให้บุคคลภายนอก ได้แก่ เอกสารการรับเงิน หรือรายได้จากการขายทรัพย์สินหรือสินค้าหรือรายได้จากการให้บริการ
(ค) เอกสารที่จัดทำขึ้นโดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี เพื่อใช้ในกิจการ
การลงรายการในบัญชีต้องใช้เอกสารจาก (ก) หรือ (ข) แล้วแต่กรณีเสียก่อน เว้นแต่ไม่มีเอกสารดังกล่าว จึงให้ใช้เอกสารตาม (ค) ทั้งนี้ ให้ศึกษาเพิ่มเติม จาก “คู่มือการจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สามารถถือเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรได้” ของกรมสรรพากร (http://www.rd.go.th/publish/seminar/SMEManualDoc_20062559.pdf)
3.3 ต้องจัดให้มีการวางรูประบบบัญชี ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับกิจการ โดยผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ความชำนาญ ในอันที่จะแนะนำความถูกต้องครบถ้วน ให้ได้
3.4 ลงทุนจ้างบุคลากรทางบัญชีที่ดีมีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้ทำบัญชีที่มีคุณธรรมแห่งวิชาชีพการบัญชี ซื่อสัตย์ สุจริต ประเด็นสำคัญมีความรู้ทางภาษีอากรที่ดี
3.5 อาจสรุปสาเหตุใหญ่ของปัญหาการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง ได้ดังนี้
(1) เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่มีความรู้ ความเข้าใจทางภาษีอากรอย่างเพียงพอ
(2) ผู้บริหารไม่ใส่ใจ ละเลยแนวทางปฏิบัติทางภาษีอากร
(3) นโยบายทางภาษีอากรไม่ชัดเจน และขาดการวางแผนภาษีอากรทีดี
(4) ข้อกฎหมายแตกต่างจากหลักเกณฑ์ทางภาษีอากร และบางกรณียากที่จะปฏิบัติตาม
(5) สัญญาทางธุรกิจ และลักษณะของธุรกิจ ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางภาษีอากร
(6) ไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยจำนวนเม็ดเงินภาษีที่ต้องเสียลดลง อาทิ รายการยกเว้นภาษีอากรประเภทต่างๆ
เนื่องจากภาษีอากรใช้บัญชีทางธุรกิจ เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีอากร แม้จะมีรายการทีแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ถ้าเริ่มต้นทางบัญชีให้ถูกต้อง ก็จะสามารถช่วยให้เสียภาษีอากรได้ถูกต้องครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
4. บทสรุป
จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการนี้ หรือไม่อย่างไร
แน่นอนที่สุด ถึงเวลาแล้วที่จะดำเนินธุรกิจไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง และเสียภาษีอากรอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา และครบถ้วนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงเวลาที่ต้องปิดศึกแนวรบด้านการบัญซี่และภาษีอากร หากแต่ต้องนำทั้งสองประเด็นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะมีสัญญาณบอกเหตุว่า สถานการณ์ทุกอย่างบีดรัดผู้ประกอบการ SMEs ให้ต้องปฏิบัติทางบัญชีให้ถูกต้อง และเสียภาษีอากรให้ถูกต้อง
เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว สิ่งที่ต้องพบเจอแน่นอนคือ บทลงโทษที่รุนแรงและหนักหน่วงกว่าเดิมใช่หรือไม่
ต่อปัญหานี้ขอเรียนว่า ภาษีอากรที่กรมสรรพากรจัดเก็บ ส่วนใหญ่เป็น “ภาษีอากรประเมิน” ซึ่งประกอบด้วยการยื่นรายการประเมินตนเองของผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษี และการประเมินความถูกต้อง และครบถ้วนของจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องเสียหรือนำส่ง และการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากร และหากผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรไว้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว อำนาจเจ้าพนักงานประเมินก็จะหายวับดับวูบไปเอง ไม่อาจกระทำกระไรต่อผู้ประกอบการรายนั้นๆ ได้เลย นอกจากบริการที่ดีที่ต้องพึงให้ด้วยความเคารพรักเท่านั้น
ดังนั้น หากผู้ประกอบการจัดทำบัญชีชุดเดียวตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา โดยมีเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีโดยถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ก็ย่อมไม่พึงต้องไปกังวลใจใดๆ ทั้งสิ้น
การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดจะถูกดำเนินการอย่างไร
กรมสรรพากรมีข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษีอากรของผู้ประกอบการทุกราย อย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้น จนทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากร หรือปฎิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ข้อมูลต่างๆ จะรุมเร้าให้เจ้าพนักงานสรรพากรออกมาทำการประเมินความถูกต้อง พร้อมทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวมทั้งค่าปรับทางอาญา
ในทางตรงกันข้าม หากปฏิบัติโดยถูกต้อง ก็นจะได้พบกับความสุข สงบ สันติ คลายกังวลใจเหมือนกับได้ปิดศึกด้านภาษีสรรพากรลงไปสิ้นเชิง มีเวลาที่จะประกอบธุรกิจให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป