ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วิชาชีพอิสระ (Professional)

บทความวันที่ 8 ม.ค. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 13321 ครั้ง

วิชาชีพอิสระ (Professional) 


        สาขาวิชาชีพที่จะเป็นวิชาชีพอิสระ (Professional) พึงต้องมีองค์ประกอบแห่งการเป็นวิชาชีพอิสระ ดังนี้ 

        1. วิชาชีพ (Profession) เป็นอาชีพให้บริการแก่สาธารณชนที่ต้องอาศัยความรู้ ความชํานาญเป็นการเฉพาะ ไม่ซ้ําซ้อนกับวิชาชีพอื่น และมีมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอก่อนที่จะประกอบวิชาชีพ 

        2. ผู้ประกอบวิชาชีพย่อมต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูงตามมา เพราะมีผลกระทบ่ต่อผู้รับริการและสาธารณชน จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้รับบริการและสาธารณชน โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา (Intellectual Method) ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างเพียงพอ (Long Period of Training) มีอิสระในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Autonomy) และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ (Professional Ethics) 

        3. ต้องมีสถาบันวิชาชีพ (Professional Institution) หรือองค์กรวิชาชีพ (Professional Organization) เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์จรรโลงวิชาชีพ 
(อ้างอิง: https://education.dusit.ac.th/QA/articles/doc02.pdf

        4. มีกฎหมายรองรับการเป็นสาขาวิชาชีพที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจไว้เป็นการเฉพาะ สำหรับวิชาชีพนั้นๆ ซึ่งบุคคลอื่นที่ไม่คุณวุฒิในสาขาวิชาชีพนั้น จะเข้าไปประกอบวิชาชีพดังกล่าวไม่ได้ 

        อนึ่ง การมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ท่านถือตามเนื้อหาของวิชาชีพ ว่าได้มีการใช้วิชาชีพอิสระหรือไม่เพียงใด หาได้ยึดถือตามวิธีการจ่ายเงินได้ อันเป็นเพียงรูปแบบที่ตกลงกันเพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินได้พึงประเมินเท่านั้น ไม่พึงต้องยึดถือวิธีการจ่ายเงินได้ อันเป็นการผิดหลักการของการประกอบวิชาชีพอิสระ  

        การประกอบอาชีพที่ปรึกษาภาษีอากร ก็เหมือนกับที่ปรึกษากฎหมายทั่วไป ซึ่งหาได้มีองค์กรวิชาชีพมาควบคุม กำกับดูแลแต่อย่างใด แต่เป็นสาขาวิชาชีพกฎหมายอย่างหนึ่ง จึงจัดเข้าเป็นวิชาชีพอิสระ ตามแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากรต่อไปนี้ 


เลขที่หนังสือ : กค 0706/3021

วันที่ : 26 มีนาคม 2546

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ่ายค่าที่ปรึกษากฎหมาย

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40 (6)
ข้อหารือ : 
        บริษัท ซ. ประกอบกิจการให้บริการรับฝึกอบรมด้านกระบวนการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การจัดสัมมนาหลักสูตรฝึกอบรมในกิจกรรมทางธุรกิจ และระบบข้อมูลต่าง ๆ โดยมีการว่าจ้างบุคคลธรรมดาให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ เพื่อให้คำปรึกษาในการทำนิติกรรมสัญญาที่บริษัทฯ จะต้องทำกับบุคคลภายนอก ให้คำปรึกษาในด้านคดีความที่บริษัทฯ มีการฟ้องร้องและถูกฟ้องร้องตลอดจนให้คำปรึกษา 
ในเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ ที่ปรึกษาของบริษัทฯ ดังกล่าวมิได้มีฐานะเป็นพนักงานของบริษัทฯ แต่อย่างใด ซึ่งในการจ่ายค่าตอบแทน บริษัทฯ จะจ่ายเดือนละหนึ่งครั้งในจำนวนที่เท่ากันทุกครั้ง บริษัทฯ หารือว่า การจ่ายค่าที่ปรึกษากฎหมายดังกล่าวถือเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย : 
        ค่าที่ปรึกษากฎหมายเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเฉพาะที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทยหรืออยู่ในประเทศไทย มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 7 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

เลขตู้ : 66/32347


เลขที่หนังสือ  : กค 0706/9688

วันที่    : 18 พฤศจิกายน 2548

เรื่อง    : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินค่าทนายความและค่าที่ปรึกษากฎหมาย

ข้อกฎหมาย    : มาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ        :

      1. นาย ศ. มีเงินได้จากบริษัท เอ. เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เงินเดือนจำนวน 104,810.80 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 3,823.80 บาท และมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าทนายความ จำนวน 246,706.18 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 7,401.19 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินได้รับจากบริษัท ฮ. เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร ดอกเบี้ย จำนวน 5,789.47 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 289.47 บาท และมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าเช่า จำนวน 35,263.14 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 1,763.14 บาท ซึ่งได้ขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกิน จำนวน 6,549.87 บาท

      2. ในการพิจารณาคืนภาษีพบว่า เงินได้จากค่าทนายความและเงินเดือนจ่ายจากแหล่งเดียวกันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อคำนวณภาษีใหม่ปรากฏว่ามีภาษีที่ชำระไว้เกินจำนวน 719.41 บาท และสั่งให้คืนภาษีที่ชำระไว้เกินแล้วตามหนังสือแจ้งคืน ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2547

      3. ต่อมานาย ศ. ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ค.10 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 กรณีได้รับภาษีคืนน้อยกว่าที่ขอ พร้อมทั้งนำเอกสารสำเนา ภ.ง.ด.1 ก มายื่นเพิ่มเติม และหนังสือจากบริษัท เอ. ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 และลงวันที่ 29 ธันวาคม 2547 แจ้งว่า ทนายความไม่มีเงินเดือนประจำ รายได้ของทนายความจะแบ่งเป็นเงินได้ 2 ประเภท คือ รายได้จากการว่าความตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร และรายได้จากการให้คำปรึกษากฎหมายหรือค่าบริการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเงินได้ทั้งสองประเภทนี้ทนายความได้รับเป็นประจำทุก ๆ เดือน ขึ้นอยู่กับงานที่รับทำและการจ่ายเงินของลูกค้า (ลูกความ) ซึ่งหากทนายความเจ้าของเรื่องดำเนินการให้บริการที่ปรึกษากฎหมายแล้วเสร็จ จะเรียกเก็บเงินไปยังลูกความ เมื่อลูกความจ่ายชำระค่าบริการจึงทำการจ่ายให้กับทนายความไป ซึ่งเป็นเงินได้ที่ไม่แน่นอนและทนายความจะมีความเป็นอิสระที่จะรับงานว่าความหรืองานปรึกษากฎหมายจากภายนอกได้ แต่จะต้องนำรายได้มาจัดสรรให้กับบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อได้รับชำระเงินจากลูกความ และทนายความจะได้รับในอัตราร้อยละ 90 นอกจากนี้แล้วทนายความยังไม่มีสวัสดิการอื่นใดที่จะได้รับ นอกจากจะได้รับเงินได้ตามงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯ หรืองานที่ได้รับทำงานให้กับลูกความ

แนววินิจฉัย     : 

     กรณีที่นาย ศ. เป็นทนายความของบริษัทฯ มีรายได้จากการว่าความและการให้บริการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย โดยไม่มีเงินเดือนประจำที่จ่ายจากบริษัทฯ และทนายความมีความเป็นอิสระในการว่าความหรือให้คำปรึกษากับบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น เงินค่าจ้างที่นาย ศ. ได้รับทั้งจำนวนจากลูกความ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการประกอบวิชาชีพอิสระทางด้านกฎหมาย ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้   : 68/33688