ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

"คืนความสุขให้ห้างหุ้นส่วนสามัญ"

บทความวันที่ 8 ม.ค. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2779 ครั้ง

"คืนความสุขให้ห้างหุ้นส่วนสามัญ" 


        การยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เคยบัญญัติว่า "เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้" (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) แน่นอนปัญหาที่เกิดขึ้นคือ

        1. จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซ้ำซ้อน ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการบัญญัติประมวลรัษฎากร ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติปห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ที่บัญญัติว่า "สมควรตราประมวลรัษฎากรเพื่อปรับปรุงการรัษฎากรตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม"

        2. การยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบัญญัติให้มีการเจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รั้บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เท่ากับมีเจตนาที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่เกิดจากเงินได้พึงประเมินของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลที่่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2558 อันเข้าลักษณะเป็นการจัดเก็บภาษีย้อนหลัง

        3. มีวิธีการแก้ปัญหาการหลบหลีกภาษีอากรของผู้มีเงินได้ที่รัฐไม่อยากให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยการยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้สุจริตที่จัดตั้งขึ้นมา โดยมิได้มีเจตนาที่หลบหลีกภาษีอากร แต่ก็พลอยฟ้าพลอยฝน ถูกเล่นงานดังที่เห็น - เป็นปัญหาอยู่ทุกวัน โดยกรมสรรพากรต้องออกคำชีแจงซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเชื่อได้ว่า ยังคงต้องกระทำต่อไปอีกหลายครั้งหลายครา ซึ่งแม้จะปกติของการออกกฎหมายใหม่ แต่เสียงของความไม่พอใจก็มีให้ได้ยินอยู่ตลอดเวลา

        4. การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ท่านให้ศึกษาให้ถ่องแท้ว่า สมมติฐานหรือรากเหง้าของปัญหาอยู่ทีใด การยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งรังแต่ละเกิดปัญหาขึ้นใหม่ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ 
ตามข้อ 2.4 ของหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0701/3730 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2558 เรื่อง การชี้แจงความเข้าใจเกี่ยวกับภาระภาษีกรณีบัญชีเงินฝากร่วมกัน ซึ่งเรียน ประธานสมาคมธนาคารไทยที่กำหนดว่า
            “2.4 กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญสามารถเลือกใช้สิทธิถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 และไม่นำมารวมคำนวณภาษ๊ในแบบแสดงรายการภาษีในตอนปลายปี ห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ไม่ต้องจัดทำบัญชีแสดงรายได้และรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญ เพื่อยื่นต่อกรมสรรพากรแต่อย่างใด” 
            นั้น เป็นการเลือกปฏิบัติหรือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นคมดาบที่กลับมาเฉือดเฉือนกรมสรรพากรเองในโอกาสต่อไป ทำนองดาบนั้นคืนสนอง

        5. ปัญหายิบย่อยที่ยังต้องการคำตอบ ยังมีอีกมาก โดยไม่เคยได้มีการกล่าวถึงกันมาก่อนที่จะยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ 
            (1) วิธีการคำนวณกำไรของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จะนำมาแบ่งปันกัน ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ถูกบังคับให้ต้องจัดทำบัญชีดังเช่นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีกฎหมายว่าด้วยการบัญชีบัญญัติบังคับไว้ ซึ่งสะดวกที่จะคำนวณหา "กำไร" ทั้งวิธีการบัญชี และจำนวนกำไรทางบัญชี 
            (2) คำว่า "กำไร" มีมาตรฐานในการคำนวณหาจำนวนอย่างไร จะอิงหลักการบัญชีข้อใดหรือไม่
            (3) หากไม่มีการแบ่ง จะตามตรวจสอบได้อย่างไร กรมสรรพากรมีเจ้าหน้าที่ที่มี่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ดีพอเพียงหรือไม่ ในที่สุดก็เจอการหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่เกิดจากการมีช่องโหว่อยู่มากมายที่รอการแก้ปัญหา 
            (4) เมื่อมีการค้นพบช่องโหว่ของการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินส่วนแบ่งของกำไร
แล้วที่สุดการแก้ปัญหาโดยวิธีนี้ ก็เกิดปัญหาขึ้นใหม่ไม่หยุดหย่อน

        6. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น มีข้อสมมติฐานมาจาก หลัก "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากหน่วยทางภาษีอากรที่ย่อยหรือเล็กที่สุดแล้ว" จึงไม่พึงจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาแล้วชั้นหนึ่ง ซึ่งยังคงมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ เช่น กรณีเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้จากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ที่ได้รับจากกองมรดก ซึ่งได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาแล้วตามความในมาตรา 57 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 42 (16) แห่งประมวลรัษฎากร
        7. การยกเว้นภาษีเงินได้มีหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หากจัดเก็บภาษีเงินได้ได้ยาก จงยกเว้นไม่จัดเก็บเสียดีกว่า เพราะได้ไม่คุ้มเสีย นอกจากตามจัดเก็บภาษีไม่ได้แล้ว ยังเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดของพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย

        ดังนั้น มีวิธีการแก้ปัญหาการหลบหลีกภาษีอากรของผู้มีเงินได้ที่รัฐไม่อยากให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล นอกจากการยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่

        1. ทำไมในวงการ “ตัวแทนประกันภัย” จึงไม่มีปัญหาการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล นั่นก็เป็นเพราะมีกฎหมายกำหนดให้ “ตัวแทนประกันภัย” มีสถานะได้เพียง “บุคคลธรรมดา” และ “นิติบุคคล” เท่านั้น จึงไม่มีใครสามารถตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพื่อเป็นตัวแทนได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง “สิทธิ” ในการเป็น “ตัวแทนประกันภัย” เป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ดังนั้น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลจึงไม่มีสิทธิหรือมีโอกาสที่จะได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนประกันภัยได้เลย วิชาชีพนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลกับกรมสรรพากร

        2. ก็เช้นนั้น ทำไมจึงไม่นำวิธีการตามข้อ 1 ไปใช้กับวิชาชีพอื่นๆ ที่รัฐไม่อยากให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเล่า โดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพที่มีใบอนุญาตโดยเฉพาะ เพราะวิธีการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง อาทิ 
            (1) ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพดังต่อไปนี้ ที่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวต้องมีใบอนุญาตจึงจะสามารถกระทำได้ 
                 - การประกอบโรคศิลปะโดยแพทย์ 
                 - วิชาชีพกฎหมายโดยทนายความ 
                 - วิชาชีพวิศวกรรมโดยวิศวกร 
                 - วิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยสถาปนิก และ
                 - วิชาชีพการบัญชีโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากรหรือผู้จัดทำบัญชี 
            (2) ผู้ประกอบวิชาชีพการตรวจสอบภายใน
            (3) ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

        3. คืนความสุขให้แก่ผู้ที่จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ด้วยการยกเลิกการยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยมุ่งเน้นจัดการปัญหาที่ต้นเหตุแห่งปัญหาเท่านั้น