ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ข้อดีข้อเสียของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

บทความวันที่ 12 พ.ย. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 13530 ครั้ง

ข้อดีข้อเสียของการที่บุคคลธรรมดาประกอบกิจการร้านกาแฟที่มีรายได้จากการประกอลกิจการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี แล้วต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
ข้อดี 
….1. กรณีจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้กระทําตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 
........(1) ได้รับยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดา สําหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทําตราสารอันเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนทรัพย์สิน ที่เป็นตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
….….(2) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีทุนที่ชําระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท สําหรับเงินได้เป็นจํานวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ค่าทําบัญชี และค่าสอบบัญชี เป็นระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 
………… อนึ่ง คำว่า “ขายสินค้า” หมายความว่า จําหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า อันได้แก้ ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้นโดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทนและให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชําระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
………… คำว่า “บริการ” หมายความว่า การกระทําใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า 
....2. สามารถรระดมเงินทุนจากผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น ทำให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการได้สูง
....3. มีการประชุมระดมความคิดมันสมองเข้ามาใช้ในการดำเนินกิจการ ทำให้เกิดความหลากหลายในความคิดและมุมมอง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นต้นเหตุของความล่าช้าและขัดแย้งทางความคิด
....4. มีคณะกรรมการบริหาร หากต้องมีการตัดสินใจที่สำคัญๆ ต้องขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น
....5. หากเป็นกิจการ SMEs ทีมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ส่ว่นที่เกิน 300,000 บาท แรก แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียอัตรา 15 % กำไรส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท เสียในอัตรา 20%
.... 6. กรณีประสบผลขาดทุนสุทธิก็ไม่ต้องเสียภาษี ก็จะสามารถยกผลขาดทุนสุทธิไปหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีต่อไปได้ ไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี
....7. หากเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นจะรับผิดชอบเท่าที่หุ้นที่ถืออยู่ หากเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนจะรับผิดชอบเท่าทีลงเงินไป

ข้อเสีย 
....1. การประชุมระดมความคิดมันสมองเข้ามาใช้ในการดำเนินกิจการ แม้จะทำให้เกิดความหลากหลายในความคิดและมุมมอง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นต้นเหตุของความล่าช้าและขัดแย้งทางความคิด และแตกแยกทะเลาะเบาะแว้งกัน ถึงขนาดใช้ความรุนแรง
....2. มีคณะกรรมการบริหาร หากต้องมีการตัดสินใจที่สำคัญๆ ต้องขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น อาจทำให้ขาดความคล่องตัว
....3. หากมีผลขาดทุนจากการประกอบกิจการ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งนาดหมางกัน 
....4. ต้องมีหน้าที่จัดทำบัญชี และจัดให้มีการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นสำหรับกิจการขนาดเล็ก

การเป็นบุคคลธรรมดา
....1. เป็นการดำเนินการโดยบุคคลคนเดียว
....2. ไม่อาจรระดมเงินลงทุนจากใครๆ ได้ อาศัยเงินทุนเพียงส่วนของตนเท่านั้น
....3. หัวเดียวกระเทียมรีบ ไม่อาจระดมความคิดจากใคร ต้องคิดเอง ทำเอง ตัดสินใจได้รวดเร็ว ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานะการณ์โดยแทบจะทันทีทันใด
....4. ตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่ว่าจะงานเล็ก หรือประเด็นใหญ่
....5. ไม่มีการแบ่งจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไร รับผลกำไรขาดทุนแต่เพียงผู้เดียว
....6. เป็นการเสียภาษีแบบเหมาจ่าย โดยการนำรายได้ของปีนั้นๆมาหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายตามแต่ลักษณะธุรกิจ เมื่อหักแล้วเหลือเท่าไรค่อยนำเอามาคำนวนเพื่อเสียภาษีแม้ในปีนั้นขาดทุน ก็ต้องเสียภาษี
....7. อัตราภาษี เป็นแบบอัตราก้าวหน้า ของเงินได้สุทธิในส่วนที่เกิน 1.5 แสนบาทแรก 
....8. ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีไม่บังคับให้ต้องจัดทำบัญชี แต่ในทางภาษีอากรต้องจัดทำบัญชีเงินสด รับ – จ่าย โดยเฉพาะการเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร (ค่าใช้จ่ายจริง) 
....9. ผู้เป็นเจ้าของกิจการต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน
....10. ความน่าเชื่อถือที่มีต่อบุคคลภายนอก อาจจะมองดูว่าไม่มีความมั่นคง ไม่ใช่มืออาชีพเป็นการฉาบฉวย กลัวในเรื่องความรับผิดชอบ


ที่มา: http://www.thaitaxinfo.com/html