ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

กรณีรายจ่ายเนื่องจากการทุจริตของกรรมการผู้บริหาร

บทความวันที่ 10 พ.ย. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 1731 ครั้ง

กรณีรายจ่ายเนื่องจากการทุจริตของกรรมการผู้บริหาร

 

บริษัทฯ ขอหารือว่า หนี้ที่บริษัท ก. ต้องชำระให้แก่ธนาคาร ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ เนื่องจากเป็นกรณีที่บริษัทฯ และถูกกระทำละเมิดโดย นาย ป. ซึ่งเป็นอดีตกรรมการบริษัทฯ และการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ และผลเสียหายดังกล่าวไม่อาจได้รับกลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มครองใด ๆ ดังนั้น บริษัทฯ สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

กรมสรรพากรได้พิจาณาตอบข้อหารือไปว่า

บริษัท ก. ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดี ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นโดยคดีถึงที่สุดแล้วไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่บริษัทฯ ต้องรับผิดเนื่องจากกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ได้นำที่ดินรวม 3 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปจดทะเบียนจำนองเพื่อค้ำประกันหนี้ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ศาลได้พิพากษาว่า การกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจที่ได้ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทฯ ที่ได้กระทำแทนบริษัทฯ ในการค้ำประกันโดยการจดทะเบียนจำนองทรัพย์สินของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ อันมีผลผูกพันบริษัทฯ จึงพิพากษาให้จำเลยทุกคนร่วมกันชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองในคดีขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งหมดขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์

บริษัทฯ ได้เป็นโจทก์ฟ้องกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ในคดีของศาลแพ่งให้ไถ่ถอนที่ดินรวม 3 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หากไม่ไถ่ถอน ให้บริษัทฯ ไถ่ถอนจำนองเอง

1. บริษัทฯ ต้องรับผิดในผลเสียหายในฐานะผู้ค้ำประกัน อันถือได้ว่าเป็นผลเสียหายอันเนื่องจากการประกอบกิจการ ตามคำพิพากษาของศาล ดังนั้น หากผลเสียหายดังกล่าวมิอาจได้กลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ บริษัทฯ นำมาถือเป็นรายจ่าย ในการคำนวณ กำไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากผลเสียหายเกิดขึ้นในปีใด ต้องถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แต่ตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้บริษัทฯ ไม่สามารถลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผลเสียหายเกิดขึ้นได้ และคดีได้ถึงที่สุดแล้วไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา จึงให้ลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับหนังสือจากกรมสรรพากร เป็นกรณีเฉพาะรายได้ หากต่อมาภายหลังบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระแล้วนั้นมาลงเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

2. กรณีธนาคารเจ้าหนี้ ได้บังคับชำระหนี้โดยการขายทอดตลาดทรัพย์ของบริษัทฯ ในการค้ำประกันหนี้ เมื่อบริษัทฯ ได้ชำระหนี้แล้ว บริษัทฯ มีสิทธิไล่เบี้ยกับลูกหนี้ตามมาตรา 693 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่บริษัทฯ ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยผู้จำนองอื่น ตามมาตรา 725 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีนี้จึงไม่อาจนำมาตรา 693 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องค้ำประกันมาบังคับใช้ โดยบริษัทฯ ต้องนำเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาด มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

     3. กรณีบริษัทฯ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำเงินจำนวนที่ได้รับชำระนั้นมาลงเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

(หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/7718 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2547)