ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

บทความวันที่ 10 พ.ย. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2903 ครั้ง

ลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

 

อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (99) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ดังนี้

ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน ทั้งนี้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่  

อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาลตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ดังต่อไปนี้

(1) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท

(2) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้

      (ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแยกยื่นรายการสำหรับเงินได้พึงประเมินทุกประเภท หรือเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ภริยาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท

      (ข) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจ านวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท

(3) กรณีผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์ในคราวเดียวกันแต่คนละปีภาษี ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษีแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท

(4) กรณีผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์หลายคราวในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว ๆ ละไม่เกิน 60,000 บาท

ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ด้งกล่าวจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้มาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

(1) ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสมีภาวะตั้งครรภ์

(2) ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่า ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาล

การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ด้งกล่าวเมื่อนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรซึ่งเป็นสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ผู้มีเงินได้และคู่สมรสได้รับสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแล้ว ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

สิทธิสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนดังกล่าว ได้แก่ สิทธิสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากนายจ้างภาคเอกชน

อนึ่ง การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศฉบับนี้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเท่ากับเป็นค่าลดหย่อนนั่นเอง