ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษา

บทความวันที่ 10 พ.ย. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 6103 ครั้ง

การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษา

 

เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการดําเนินงานด้านการศึกษาของสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชํานัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UNESSCO) ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 654) พ.ศ. 2561 ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สําหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชํานัญพิเศษแห่งสหประชาชาติดังกล่าว ในอันที่จะจูงใจให้มีการสนับสนุนหรือส่งเสริมการดําเนินงานของสถานศึกษาดังกล่าวมากขึ้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้

กรณีผู้บริจาคเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น โยให้ยกเว้นสําหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจํานวนสองเท่าของจํานวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสําหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสําหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น

กรณีผู้บริจาคมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้ ให้ยกเว้นสําหรับเงินได้เป็นจํานวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสําหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบํารุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกําไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

(1) กรณีจัดหาทรัพย์สินหรือสินค้ามาเพื่อการบริจาค ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสินค้าที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้น โดยให้ถือว่ามูลค่าตามหลักฐานดังกล่าว เป็นมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

(2) การบันทึกบัญชีทรัพย์สินที่จะนำมาบริจาคดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เป็นมูลค่าของทรัพย์สินที่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

(3) กรณีผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายหรือเป็นผู้ขายสินค้า ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ได้ เป็นมูลค่าของสินค้าที่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

ผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ต้องมีเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้จากสถานศึกษา พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) กรณีบริจาคเป็นเงิน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นเป็นหนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาค เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งหลักฐานดังกล่าวต้องระบุจำนวนเงินที่ได้บริจาคและสามารถพิสูจน์การรับบริจาคจากผู้บริจาคได้โดยมีการรับรองอย่างชัดแจ้งจากสถานศึกษาว่าได้รับบริจาคจริง

(2) กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ได้แก่ หลักฐานเป็นหนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาคซึ่งพิสูจน์ได้ว่าได้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่สถานศึกษา เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งหลักฐานดังกล่าวได้ระบุมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้น