ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารการเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และตราสารจ้างทำของ

บทความวันที่ 15 เม.ย. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 39815 ครั้ง

การเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารการเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์

และตราสารจ้างทำของ

 

กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 153/2559 เรื่อง การเสียอากรสำหรับตราสารการเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ และตราสารจ้างทำของ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 วางแนวทางปฏิบัติสำหรับการเสียอากรสำหรับตราสารเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ และตราสารจ้างทำของ ตามมาตรา 103 (1) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร  เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54) ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

วิธีการเสียอากรแสตมป์ตราสารเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ตามลักษณะแห่งตราสาร 1 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และตราสารจ้างทำของ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เป็นตราสารที่กำหนดให้ต้องเสียอากรแสตมป์ มีดังนี้

1. 3.  การเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารจ้างทำของ

3.1 เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย และขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้นแล้ว หรือ

2. ชำระเป็นตัวเงินเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย 

 

1. ลักษณะตราสารที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร

           ตราสารเช่าที่ดิน โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือตราสารจ้างทำของดังต่อไปนี้ ต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร

1.1 เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ 

      (1) ตราสารที่มีค่าเช่าตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป สำหรับตราสารที่กระทำตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

      (2) ตราสารที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การ บริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า หรือ

      (3) ตราสารที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน

1.2 จ้างทำของ

      (1) ตราสารที่มีสินจ้างตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป สำหรับตราสารที่กระทำตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป หรือ 

      (2) ตราสารที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป 

      หมายเหตุ

                  (1) ถ้าในเวลากระทำสัญญาจ้างทำของไม่ทราบจำนวนสินจ้างว่าเป็นราคาใด ให้ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควรแล้วเสียอากรตามจำนวนสินจ้างที่ประมาณนั้น
                  (2) ถ้ามีการรับเงินสินจ้างเป็นคราว ๆ และอากรที่เสียไว้เดิมยังไม่ครบ ให้เสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่มีการรับเงิน
                  (3) เมื่อการรับจ้างทำของได้สิ้นสุดลงแล้ว และปรากฏว่าได้เสียอากรเกินไป ให้ขอคืนตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร ได้
                  ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
                  สัญญาที่ทำขึ้นนอกประเทศไทยและการปฏิบัติตามข้อสัญญานั้นมิได้ทำในประเทศไทย

ตราสารดังกล่าว หากมิได้มีการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ถือว่าตราสารนั้นไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินและเสียเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร  

 

2.  การเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารการเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ (2)

2.1 ตราสารเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องเสียอากร หมายถึง เอกสารการเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้ให้เช่าได้ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้เช่า เพื่อให้ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นภายในกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกัน และผู้เช่าได้ตกลงที่จะชำระค่าเช่าเป็นการตอบแทน โดยคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย เช่น

      (1) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าที่ดิน กำหนดเวลาเช่า 1 ปี โดยได้ทำสัญญาและลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายในวันที่ 1 มีนาคม 2559 โดยสัญญาเช่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559  ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2560 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากร ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า ซึ่งได้แก่ วันที่คู่สัญญาได้ “ลงลายมือชื่อ” ในตราสารเช่าทั้งสองฝ่าย

      (2) บริษัท ก จำกัดให้บริษัท ข จำกัด เช่าอาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการกำหนดเวลาเช่า 1 ปี โดยสัญญาเช่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 และบริษัท ข จำกัด ผู้เช่า ได้เข้าใช้อาคารสำนักงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แต่บริษัท ก จำกัด และบริษัท ข จำกัด ได้ทำสัญญาและลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายในวันที่ 1 มีนาคม 2559 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากร ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า

      (3) บริษัท ก จำกัดให้บริษัท ข จำกัด เช่าโกดังเก็บสินค้า กำหนดเวลาเช่า 1 ปี โดยสัญญาเช่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 และบริษัท ข จำกัด ผู้เช่าได้เข้าใช้โกดังเก็บสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อมาบริษัท ก จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งบริษัท ข จำกัด ให้มาลงนามในสัญญาเช่าในวันที่ 1 มีนาคม 2559 และบริษัท ข จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเช่าดังกล่าวในวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากร ในวันที่ได้จัดทำตราสารเช่าดังกล่าว

      (4) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าห้องในศูนย์การค้าเพื่อประกอบกิจการขายเฟอร์นิเจอร์ กำหนดเวลาเช่า 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 แต่บริษัท ข จำกัด ผู้เช่าได้เข้าปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้ประกอบกิจการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ก่อนสัญญาเช่ามีผลใช้บังคับ ต่อมาบริษัท ก จำกัด และบริษัท ข จำกัด ลงนามในหนังสือเจตนาจองพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการเช่าในวันที่ 1 มีนาคม 2559 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากร ในวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า

      (5) บริษัท ก จำกัดให้บริษัท ข จำกัด เช่าโรงงานเพื่อใช้ผลิตสินค้า กำหนดเวลาเช่า 5 ปี บริษัท ก จำกัดและบริษัท ข จำกัด ได้ทำสัญญาและลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 และจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียน ในวันที่นำตราสารไปจดทะเบียนการเช่า

      (6) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าห้องชุด โดยบริษัท ข จำกัด มีหนังสือขอเช่าห้องชุดดังกล่าวไปยังบริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และบริษัท ก จำกัด มีหนังสือตอบรับยินยอมให้เช่าไปยังบริษัท ข จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 หนังสือตอบรับตามหนังสือขอเช่าเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารเช่า บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่า มีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า

2.2 ผู้ให้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น มีหน้าที่ต้องเสียอากร 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งค่าเช่าหรือเงินกินเปล่า หรือทั้งสองอย่างรวมกันตลอดอายุการเช่า กรณีสัญญาเช่าที่ไม่ได้กำหนดอายุการเช่าไว้ ให้ถือว่า สัญญาเช่านั้นมีกำหนด 3 ปี

      กรณีสัญญาเช่าใดครบกำหนดเวลาเช่าแล้ว แต่ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่โดยผู้ให้เช่าไม่ได้ทักท้วง และคู่สัญญาไม่ได้ทำสัญญาขึ้นใหม่ ถือว่า สัญญาเช่าเดิมนั้นได้เริ่มทำกันใหม่ โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่าและต้องเสียอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่นั้น เช่น

      (1) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าอาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการ ตกลงค่าเช่าปีละ 300,000 บาท โดยไม่กำหนดระยะเวลาการเช่า ให้ถือว่าสัญญาเช่าดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี ดังนั้น สัญญาเช่าจึงมีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 900,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

      (2) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าอาคารสำนักงานเพื่อใช้สถานประกอบการ ตกลงค่าเช่าปีละ 300,000 บาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 1 ปี บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 300,000 บาท

            ต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาเช่า บริษัท ข จำกัด ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่โดยบริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง และคู่สัญญาก็ไม่ได้ทำสัญญาขึ้นใหม่ ถือว่า สัญญาเช่าเดิมนั้นได้เริ่มทำกันใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่า เนื่องจากสัญญาเช่าที่ถือว่าเริ่มขึ้นใหม่นั้นเป็นสัญญาเช่าที่ไม่กำหนดเวลาจึงต้องถือว่า มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี และสัญญาเช่าใหม่มีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 900,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่ โดยต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

      (3) บริษัท ก จำกัดให้บริษัท ข จำกัด เช่าอาคารโรงงานเพื่อใช้ผลิตสินค้า ตกลงค่าเช่าปีละ 500,000 บาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 5 ปี แต่มิได้นำสัญญาเช่าไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้โดยผลกฎหมายจะทำให้สัญญาเช่าดังกล่าวใช้บังคับได้เพียง 3 ปี แต่สัญญาเช่ามีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 2,500,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 2,500,000 บาท

      (4) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าโกดังเพื่อใช้เป็นที่เก็บสินค้า ตกลงค่าเช่าปีละ 500,000 บาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,500,000 บาท

            ต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาเช่า บริษัท ข จำกัด ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่โดยบริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง และคู่สัญญาก็ไม่ได้ทำสัญญาขึ้นใหม่ กรณีเช่นนี้ให้ถือว่า สัญญาเช่าเดิมนั้น ได้เริ่มทำกันใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่า เนื่องจากสัญญาเช่าที่ถือว่าเริ่มขึ้นใหม่นั้นเป็นสัญญาเช่าที่ไม่กำหนดเวลาจึงต้องถือว่ามีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี และสัญญาเช่าใหม่มีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 1,500,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่ โดยต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,500,000 บาท 

      (5) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าโกดังเพื่อใช้เป็นที่เก็บสินค้า ตกลงค่าเช่าปีละ 500,000 บาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี โดยข้อตกลงตามสัญญาเช่ากำหนดว่าเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าให้สัญญาเช่าเดิมมีผลใช้บังคับต่อไปตามเงื่อนไขของสัญญาเพื่อไม่ต้องจดทะเบียนการเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อตกลงการต่ออายุสัญญาเช่าจึงใช้บังคับไม่ได้ บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,500,000 บาท

            แต่อย่างไรก็ตาม หากครบกำหนดเวลาเช่า บริษัท ข จำกัด ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่ โดยบริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง และคู่สัญญาก็ไม่ได้ทำสัญญาขึ้นใหม่ ถือว่าสัญญาเช่าเดิมนั้นได้เริ่มทำกันใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่า เนื่องจากสัญญาเช่าที่ถือว่าเริ่มขึ้นใหม่นั้นเป็นสัญญาเช่าที่ไม่กำหนดเวลาจึงต้องถือว่ามีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี และสัญญาเช่าใหม่มีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 1,500,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่ โดยต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,500,000 บาท

      (6) บริษัท ก จำกัด  ให้บริษัท ข จำกัด เช่าห้องในศูนย์การค้าเพื่อประกอบกิจการขายสินค้า กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี ตกลงค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท และมีข้อตกลงให้บริษัท ข จำกัด ต้องจ่ายค่าเช่าอีกส่วนหนึ่งตามส่วนแบ่งรายได้ สัญญาเช่ามีมูลค่าที่ปรากฏจำนวน 900,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท 

            หากบริษัท ก จำกัด ได้รับส่วนแบ่งรายได้ในเดือนแรกแห่งสัญญาเช่าอีกจำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นผลให้บริษัท ก จำกัด ได้รับค่าเช่าเกิน 1,000,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาท

      (7) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าห้องในศูนย์การค้าเพื่อประกอบกิจการขายสินค้า กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี บริษัท ข จำกัด ตกลงจ่ายค่าเช่าให้บริษัท ก จำกัด ตามส่วนแบ่งรายได้ โดยประมาณค่าเช่าตลอดสัญญาเช่ามีมูลค่า จำนวน 900,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท 

            ต่อมาบริษัท ก จำกัด ได้รับค่าเช่าตามส่วนแบ่งรายได้จริงมากกว่ามูลค่าที่ประมาณไว้จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นผลให้บริษัท ก จำกัด ได้รับค่าเช่าเกิน 1,000,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาท

 

3.  การเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารจ้างทำของ

3.1 ตราสารจ้างทำของที่ต้องเสียอากร หมายถึง เอกสารการจ้างทำของซึ่งผู้รับจ้างตกลงทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเป็นการตอบแทน โดยคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย

     ตราสารซึ่งเกิดขึ้นโดยมีหนังสือโต้ตอบกัน ตามมาตรา 109 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 

     “มาตรา 109 สัญญาใดเป็นตราสารซึ่งเกิดขึ้นโดยมีหนังสือโต้ตอบกันและมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าหนังสือฉบับหนึ่งฉบับใดที่จำเป็นในการทำให้เกิดสัญญานั้นขึ้นได้ปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าแสตมป์แล้วให้ถือว่าสัญญานั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว” 

     ตามปกติหากคู่สัญญากระทำตราสารเป็นลายลักษณ์อักษรโดยชัดแจ้ง ก็ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นปัญหา เพราะมีการลงลายมือชื่อในตราสารทั้งสองฝ่าย รวมทั้งมีพยานลงนามรับรู้ถึงการ “กระทำ” ตราสารของคู่สัญญานั้นด้วย การมีหนังสือโต้ตอบกันจนเกิดเป็นตราสารนั้น เป็นผลมาจากหลักในการทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ 

      สาระสำคัญของสัญญา
                (1) ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป
                (2) ต้องมีการแสดงเจตนาเป็นคำเสนอคำสนองตกลงตรงกัน ยินยอมกัน
                (3) ต้องมีวัตถุประสงค์
                คำเสนอ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาตอบ ถ้าข้อความที่แสดงเจตนาออกมานั้นตรงกันกับคำเสนอ เรียกนิติกรรมฝ่ายหลังว่า คำสนอง เกิดเป็นสัญญาขึ้น
                (1) ลักษณะของคำเสนอ
                     คำเสนอเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวเกิดจากการแสดงเจตนาของผู้ทำคำเสนอต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับคำเสนอ
                      คำเสนอจะต้องมีข้อความแน่นอนชัดเจนพอที่จะให้ถือเป็นข้อผูกพันก่อให้เกิดเป็นสัญญา
                      คำทาบทาม ที่มีขึ้นเพื่อให้มีการเจรจาที่จะทำสัญญากันต่อไป และแตกต่างกับคำเชื้อเชิญ คำเชื้อเชิญจะมีลักษณะเป็นคำขอที่ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำคำเสนอเข้ามา
                      การแสดงเจตนาทำคำเสนอจะทำด้วยวาจาก็ได้ เป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยกริยาอาการอย่างใด ๆ ก็ได้
                (2) การถอนคำเสนอ
                      (ก) ในระยะเวลาที่บ่งไว้ให้ทำคำสนองผู้เสนอจะถอนคำเสนอของตนไม่ได้ (มาตรา 354 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
                      (ข) ผู้เสนอจะถอนคำเสนอซึ่งกระทำต่อผู้อยู่ห่างโดยระยะทางก่อนเวลาที่ควรมีคำสนองไม่ได้ (มาตรา 355 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
                      (ค) คำเสนอต่อบุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้าจะมีคำสนองได้ก็แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้น (มาตรา 356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
                 (3) คำเสนอสิ้นความผูกพัน
                      (ก) ผู้รับคำเสนอบอกปัดไปยังผู้เสนอ (มาตรา 357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
                      (ข) ผู้รับคำเสนอไม่สนองรับภายในกำหนดเวลาที่บ่งไว้ในคำเสนอ ภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าผู้เสนอจะได้รับคำบอกกล่าว
                      (ค) กรณีที่ผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ (มาตรา 360 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักหรือก่อนสนองรับผู้สนองได้ทราบว่าผู้เสนอตายแล้วหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
                 คำสนอง คือ คำตอบของผู้รับคำเสนอต่อผู้เสนอโดยแสดงเจตนาว่าผู้รับคำเสนอนั้นตกลงเห็นชอบตามคำเสนอ “คำสนองต้องตรงกันกับคำเสนอ”
ที่มา: https://sites.google.com/…/kdh…/kdhmay-wa-dwy-nitikrrm-sayya

      อนึ่ง คำว่า “กระทำ” นั้น ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสาร “กระทำ” หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

      ตัวอย่าง

      (1) บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซึ่งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ให้สร้างอาคารสำนักงานโดยบริษัท ก จำกัด แจ้งให้บริษัท ข จำกัด ประเมินราคางานเบื้องต้นในวันที่  1 กุมภาพันธ์ 2559 และบริษัท ข จำกัด ทำใบเสนอราคา (Quotation) ให้แก่บริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ต่อมาบริษัท ก จำกัด และบริษัท  ข จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างและลงลายชื่อทั้งสองฝ่ายในวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1  เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารจ้างทำของ

      (2) บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมเครื่องจักร โดยบริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างออกใบเสนอราคา (Quotation) ให้บริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และบริษัท ก จำกัดได้ลงนามในใบเสนอราคาฉบับดังกล่าวในวันที่ 1 มีนาคม  2559 บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารจ้างทำของ

      (3) บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมเครื่องถ่ายเอกสาร โดยบริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง ออกใบเสนอราคา (Quotation) ให้บริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แต่บริษัท ก จำกัด ไม่ได้ลงนามในใบเสนอราคาดังกล่าว ต่อมาบริษัท ก จำกัด ออกใบสั่งจ้าง (Purchase Order) แจ้งให้บริษัท ข จำกัด ทราบในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ใบสั่งจ้างตามใบเสนอราคาเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของ บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 มีนาคม 2559

      (4) บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมหลังคาอาคารโรงงาน บริษัท ข จำกัด ได้ซ่อมหลังคาอาคารโรงงานตามที่ตกลงแล้วเสร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อมาบริษัท ก จำกัด ออกใบสั่งจ้าง (Purchase Order) ให้แก่บริษัท ข จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 และบริษัท ข จำกัดออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) พร้อมแนบใบสั่งจ้างเรียกเก็บเงินจากบริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ใบแจ้งหนี้ตามใบสั่งจ้างเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของ บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 เมษายน 2559

           ตามตัวอย่างข้างต้น เมื่อบริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมหลังคาอาคารโรงงาน บริษัท ข จำกัด ได้ซ่อมหลังคาอาคารโรงงานตามที่ตกลงแล้วเสร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 สัญญาจ้างซ่อมหลังคาอาคารโรงงานจบสิ้นไปแล้ว สัญญาดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นตราสารจ้างทำของที่ต้องปิดอากรแสตมป์ 

                       ต่อมาบริษัท ก จำกัด ออกใบสั่งจ้าง (Purchase Order) ให้แก่บริษัท ข จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 มีเหตุผลที่สำคัญเพียงใดต่อการที่บริษัท ก จำกัด จะออกใบสั่งจ้าง (P/O) ไปให้บริษัท ข จำกัดอีก เพราะว่า เป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็ว ฉับไวในการดำเนินงาน เพราะงานจ้างซ่อมหลังคาได้ทำเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้ไม่มีเอกสารรายการนี้ สัญญาจ้างซ่อมหลังคาดังกล่าวก็สมบูรณ์แล้วตั้งแต่แรก เพียงแต่ไม่ได้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร หากอยางได้สัญญาที่เป็นลักษณ์อักษร ทำไมจึงไม่กระทำกันเสียแต่แรก ต้องรอให้งานเสร็จแล้วค่อยออกใบสั่งจ้างเพื่อประโยชน์อันใด เพื่อแกล้งให้บริษัท ข จำกัด ต้องปิดอากรแสตมป์ตามตัวอย่างนี้หรืออย่างไร 

           และเป็นที่น่าสังเกตว่า ใบแจ้งหนี้” (Invoice) ตามตัวอย่างนี้ มีลักษณะพิเศษไปกว่า “ใบแจ้งหนี” ทางการค้าทั่วไป กล่าวคือ เป็น “ใบแจ้งหนี้” ที่ออกเพื่อรองรับ “ใบสั่งจ้าง” (Purchase Order) ที่บริษัท ก จำกัด ออกให้แก่บริษัท ข จำกัด ภายหลังจากที่งานจ้างทำของได้กระทำจนแล้วเสร็จไปแล้ว บริษัท ข จำกัด จึงได้ออก “ใบแจ้งหนี้” พร้อมแนบใบสั่งจ้างเรียกเก็บเงินจากบริษัท ก จำกัด จึงพิจารณาได้ว่า “ใบแจ้งหนี้” ได้ออกไปตาม “ใบสั่งจ้าง” สำหรับงานที่มีการออกใบสั่งจ้างภายหลังจากที่งานแล้วเสร็จนั้น เป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของ บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ออก “ใบแจ้งหนี้” นั้น

             ดังนั้น จึงไม่พึงต้องกังวลกับตัวอย่างนี้ เพราะเป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อรองรับเหตุการณ์พิเศษทางธุรกิจเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุการณ์ตามปกติทั่วไปแต่อย่างใด อาทิ การรับงานจัดจ้างของทางราชการ ซึ่งเป็นไปได้อย่างมากที่จะมีการจัดทำ “ใบสั่งจ้าง” (Purchase Order) ที่ส่วนราชการได้ออกให้แก่บริษัท ข จำกัด ภายหลังจากที่งานจ้างทำของได้กระทำจนแล้วเสร็จไปแล้ว เพราะเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็ว ฉับไวในการดำเนินงาน เพราะงานจ้างซ่อมหลังคาได้ทำเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้ไม่มีเอกสารรายการนี้ สัญญาจ้างซ่อมหลังคาดังกล่าวก็สมบูรณ์แล้วตั้งแต่แรก เพียงแต่ไม่ได้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร 

3.2 ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากร 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือ เศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่ทราบจำนวนสินจ้างในขณะทำสัญญาจ้างทำของว่าเป็นจำนวนเท่าใด ให้ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควร แล้วเสียอากรตามจำนวนสินจ้างที่ประมาณนั้น

      กรณีมีการรับเงินสินจ้างเป็นคราวๆ และอากรที่เสียไว้เดิมยังไม่ครบ ให้เสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนทีต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่มีการรับเงิน เช่น

      (1) ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 นาย ก ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ให้ทำการก่อสร้างโรงจอดรถยนต์ ราคาค่าก่อสร้าง 900,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2559 นาย ก และบริษัท ข จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างฉบับดังกล่าวแก้ไขข้อสัญญาโดยเพิ่มค่าก่อสร้างอีกจำนวน 200,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องชำระอากรเพิ่มเติมให้ครบเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาท ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันจัดทำตราสารบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างทำของ

      (2) ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 นาย ก ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ให้ทำการก่อสร้างบ้าน ราคาค่าก่อสร้าง 900,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

            ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2559 นาย ก และบริษัท ข จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างฉบับดังกล่าวให้บริษัท ข จำกัด ทำการก่อสร้างโรงจอดรถยนต์ ราคาค่าก่อสร้าง 200,000 บาท โดยบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้าง บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาท ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันจัดทำตราสารบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างทำของ

      (3) บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างนาย ข เป็นนายหน้าจัดหาลูกค้า โดยคิดสินจ้างจากจำนวนลูกค้าที่หาได้ ในอัตราคนละ 10,000 บาท ทำให้ไม่อาจทราบจำนวนสินจ้างในขณะทำสัญญา จึงประมาณสินจ้างตามสมควรไว้จำนวน 500,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 500,000 บาท ต่อมาเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง บริษัท ก จำกัด จ่ายสินจ้างตามผลงานที่นาย ข ทำได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 700,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 200,000 บาท ที่เพิ่มขึ้นในทันทีที่มีการรับเงิน

      (4) บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างนาย ข เป็นที่ปรึกษาทางการตลาดและแนะนำลูกค้า โดยคิดสินจ้างในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายของบริษัท ก จำกัด ในแต่ละปี ทำให้ไม่อาจทราบ จำนวนสินจ้างในขณะทำสัญญา จึงประมาณสินจ้างตามสมควรไว้จำนวน 800,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 800,000 บาท

            ต่อมา เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง บริษัท ก จำกัด จ่ายสินจ้างตามผลงานที่นาย ข ทำได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,000,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาทที่เพิ่มขึ้น ในทันทีที่มีการรับเงิน

      (5) บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ให้ซ่อมเครื่องถ่ายเอกสารที่สำนักงานของบริษัท ก จำกัด กำหนดระยะเวลาการจ้าง 3 ปี ตกลงจ่ายสินจ้างรายปีๆ ละ 300,000 บาท รวมสินจ้างทั้งสิ้น 900,000 บาท โดยข้อตกลงการจ้างตามสัญญากำหนดให้ บริษัท ข จำกัด ปฏิบัติงาน เฉพาะช่วงเวลา 08.00 น. ถึง 16.00 น. และหากบริษัท ข จำกัด ได้ปฏิบัติงานนอกเวลาดังกล่าว จะเรียกเก็บสินจ้างเพิ่มอีกครั้งละ 5,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท ในขณะทำสัญญา

            หากบริษัท ข จำกัด ได้ปฏิบัติงานนอกเวลา บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรเพิ่มเติมให้ครบ 1 บาท ต่อทุกจำนวน 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่ได้รับเป็นคราวๆ ในทันทีที่มีการรับเงินและหากบริษัท ก จำกัด ได้จ่ายสินจ้างให้บริษัท ข จำกัด โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 1,000,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่าสินจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว 


4.  การเสียเงินเพิ่มอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่ต้องเสียเป็นตัวเงิน แต่ได้ปิดอากรแสตมป์ทับตราสาร

ตราสารเช่าที่ดิน โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือตราสารจ้างทำของดังต่อไปนี้ ต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ตามข้อ 1 ดังกล่าวข้างต้นนั้น หากมิได้มีการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ถือว่าตราสารนั้นไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินและเสียเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร 

4.1 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 84/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยอากรแสตมป์และอากรมหรสพ  กำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

               "ข้อ 1 ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรซึ่งต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากนำตราสารที่ถูกกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 123 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรไปชำระอากรโดยวิธีปิดแสตมป์ลงบนตราสารดังกล่าว เมื่อผู้มีหน้าที่เสียอากรนำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินพร้อมกับเงินเพิ่มอากรให้เสียเงินเพิ่มอากรร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากรนับแต่วันที่ต้องชำระอากร

                       การเสียเงินเพิ่มอากรตามวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับเงินเพิ่มอากรที่คำนวณจากเงินอากรที่ต้องเสียเฉพาะกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียอากรได้ปิดแสตมป์ลงบนตราสารที่ถูกกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป

                ข้อ 2 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป"

4.2 ตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ที่ได้เสียอากรแสตมป์เกินกว่าจำนวนที่ต้องเสียตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนอากรแสตมป์ส่วนที่เกินไปนั้น ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากร หรือค่าเพิ่มอากร พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผล และเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรืออธิบดีกรมสรรพากเห็นควรให้ยื่นสนับสนุนคำร้อง เพื่อประกอบการพิจารณาคืนเงินค่าอากรแสตมป์ เมื่ออธิบดีกรมสรพากรพิจารณาเห็นว่า เกินไปจริงก็ให้คืนค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นแก่ผู้เสียอากรได้ แต่คำร้องที่กล่าวนั้นต้องยื่น ดังนี้ 

     "มาตรา 122 ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือเรื่องเดียว ผู้นั้นชอบที่จะทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีเห็นว่าเกินไปจริงก็ให้คืนค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นแก่ผู้เสียอากรได้ แต่คำร้องที่กล่าวนั้นต้องยื่นภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากร หรือค่าเพิ่มอากรและต้องประกอบด้วยคำชี้แจงหรือเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรืออธิบดีเห็นควรให้ยื่นสนับสนุนคำร้อง"