ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรี และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 11 มี.ค. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 27795 ครั้ง

การขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรี และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร 


          ขอนำประเด็นเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรี และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร มากล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาทำความเข้าใจและการนำไปใช้ปฏิบัติดังนี้ 


1. การขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร 
          (1) การขอคืนภาษีอากรตามกรณีนี้ เป็นบทบัญญัติตามส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา หมวด 3 ภาษีเงินได้ ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติไว้ดังนี้ 
               “มาตรา 63 บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายืนรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
                       บุคคลใดที่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี แต่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้ว บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่ถูกหักและนำส่งไว้แล้วนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืน ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้”
               (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป)
          (2) การขอคืนภาษีอากรตามกรณีนี้ ถือเป็นบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายพิเศษ (Special Law/Jus Speciale) ของบทบัญญัติว่าด้วยการขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีผลใช้บังคับก่อนหรือยกเว้นกรณีการขอคืนตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
          (3) การขอคืนภาษีอากรตามกรณีนี้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้ 
               (ก) การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร 
               (ข) การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติให้นำความตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม
          (4) กำหนดเวลาในการขอคืนตามกรณีนี้ ให้ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วตาม (3) เป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี มีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายืนรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดดังต่อไปนี้
               (ก) การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ยื่นคำร้องขอคืน (แบบ ค.10) ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้ โดยขอคืนตามแบบแสดงรายการที่ยื่นหรือตามแบบ ค.10 แล้วแต่กรณี
               (ข) การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ยื่นคำร้องขอคืน ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนด 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 


2. การขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร 
          (1) การขอคืนภาษีอากรตามกรณีนี้ เป็นบทบัญญัติตามส่วน 1 การยื่นรายการและการเสียภาษีอากร หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติไว้ดังนี้ 
               “มาตรา 27 ตรี เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่
                     (1) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้ยื่นรายการ เมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือได้ยื่นรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
                     (2) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาล ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
                     คำร้องขอคืนตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด และให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่ผู้มีสิทธิขอคืนมีภูมิลำเนาหรือ ณ สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนด”
           (2) การขอคืนภาษีอากรตามกรณีนี้ ถือเป็นบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายทั่วไป (General Law/Jus Generale) ของบทบัญญัติที่ว่าด้วย “ภาษีอากรประเมิน” ทั้งหลาย ตามมาตรา 14 แห่งประมวลรัษฎากร อันได้แก่ ภาษีเงินได้ตามหมวด 3 ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ซึ่งตามมาตรา 15 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำบทบัญญัติในหมวด 2 ไปใช้บังคับกับบทบัญญัติในหมวด 3 หมวด 4 และหมวด 5 ไว้ดังนี้ 
                “มาตรา 15 เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้ ให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับแก่การภาษีอากรประเมินทุกประเภท” 
                ในที่นี้หมายความว่า ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการขอคืนตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรไปใช้บังคับกับการขอคืนภาษีเงินได้ตามหมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 เฉพาะที่มิได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับการขอคืนไว้เป็นอย่างอื่น และหากตามหมวด 3 หมวด 4 และหมวด 5 ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอคืนไว้เป็นประการใด ก็ให้ใช้บังคับตามหมวด 3 หมวด 4 และหมวด 5 ที่เป็นกฎหมายพิเศษนั้น ตามหลัก “กฎหมายพิเศษ ย่อมใช้บังคับก่อนหรือยกเว้นกฎหมายทั่วไป” 
          (3) การขอคืนภาษีอากรตามกรณีนี้ ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้ 
               (ก) การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีอื่นใด ที่มิใช่การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้เสียหรือนำส่งไว้เกินไป เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการและชำระ หรือนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้เกินกว่าจำนวนที่ต้องเสียหรือนำส่ง หรือเนื่องจากการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมิน หรือกรณีที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
               (ข) การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีอื่นใด ที่มิใช่การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี หรือเนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการและชำระ หรือนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เกินกว่าจำนวนที่ต้องเสียหรือนำส่ง หรือเนื่องจากการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมิน หรือกรณีที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
               (ค) การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีอื่นใด ที่มิได้มีการบัญญัติให้ขอคืนได้ตามมาตรา 84 ถึงมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากการประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมิน หรือกรณีที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
               (ง) การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีอื่นใด ที่มิได้มีการบัญญัติให้ขอคืนได้ตามมาตรา 91/11 แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะเนื่องจากการประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมิน หรือกรณีที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย 

         (4) กำหนดเวลาในการขอคืนตามกรณีนี้ การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ตาม (3) ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่

              (ก) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้ยื่นรายการ เมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือได้ยื่นรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ

              (ข) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาล ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี 

          (5) คำร้องขอคืนตามมาตรา 27 ตร่ แห่งประมวลรัษฎากร นี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ได้แก่ ค.10 ตามที่ปรากฎในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ แบบ ค.10  และให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขายที่ผู้มีสิทธิขอคืนมีภูมิลำเนาหรือ ณ สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด